In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ความรับผิดชอบธรรมาภิบาลแห่งสังคมสุจริตและสันติสุข

img-1

เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่งว่า ขอส่งลูกน้องคนหนึ่งมาปรึกษาปัญหาด้านบุคลิกภาพและการทำงาน ด้วยลูกน้องคนดังกล่าวของเขามักจะลางานแบบกระชั้นชิดบ่อย ๆ โดยอ้างว่าป่วยบ้าง ติดงานอะไรบ้าง ตามแต่เขาจะหาข้ออ้างมาอธิบาย เพราะการลางานแบบกะทันหันเช่นนั้น ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการของเขามาก ด้วยหน่วยงานของเขาเป็นการทำงาน ที่แบ่งออกเป็นสามกะใน 24 ชั่วโมง และบุคลากรก็มีอย่างจำกัด ดังนั้นหากมีใครขาดหรือลาแบบกะทันหัน สักคนจะเกิดความวุ่นวายต่อการจัดการเป็นอย่างยิ่ง

ความรับผิดชอบยังสัมพันธ์กับ
ความเป็นผู้มีความฉลาดทางอารมณ์

ช่นเดียวกับกรณีข่าวดังของประเทศ ที่ชายหนุ่มคนหนึ่งขับรถหรูราคาแพง ป้ายทะเบียนเลขสวย ชนไม้กั้นขึ้นทางด่วนกระทั่งไปชนรถอีกคันหนึ่งจนมีผู้เสียชีวิต ในขณะที่ตนเองรอดตายแต่ก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์การจราจรพบว่า เขาขับรถด้วยความเร็วประมาณ 220 – 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีพฤติกรรมทำนองดังกล่าวตลอดมา

Fostering_collaboration_LP

จากสองตัวอย่างดังกล่าวผู้เขียนนำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นและเข้าใจว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นคือปัญหาบุคลิกภาพด้านความรับผิดชอบและความกล้าหาญทางจริยธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่แฝงเร้นอยู่ในสังคมเป็นจำนวนมาก เหมือนระเบิดเวลาที่รอให้ประทุออกมาว่าจะรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสังคมแค่ไหน

ตัวอย่างแรก เจ้าตัวค่อนข้างตระหนักว่าเป็นปัญหาจึงอยากพัฒนาและแก้ไขปัญหาของตัวเอง ประกอบกับเขาเคยเป็นลูกศิษย์ของผู้เขียนมาก่อน ดังนั้นความไว้วางใจและสัมพันธภาพที่ดีที่มีต่อผู้เขียนจึงมีมาก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการให้การปรึกษาและช่วยเหลือด้านจิตใจทุกรูปแบบ ผู้เขียนจึงโค้ชเธอด้วยการให้ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งและเขียนลงในกระดาษอย่างเป็นระบบระเบียบนั้นคือ 1.) ให้เขาเขียนถึงความรู้ความสามารถในวิชาชีพและอื่น ๆ ที่เขามี 2.) ให้เขียนถึงความรู้ความสามารถที่มีอยู่ว่าไปสัมพันธ์กับใครและอะไรบ้าง 3.) การลางานแบบกะทันหัน บ่อย ๆ ของเขาจะสัมพันธ์หรือส่งผลกระทบต่อตัวเขาเองและผู้ร่วมงานหรือใคร ๆ หรือเรื่องใด ๆ อย่างไรบ้าง โดยให้เขาเขียนอย่างตั้งใจและใคร่ครวญไปมาหลาย ๆ ครั้ง

การจะช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ควรมองไปที่บุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างแท้จริง นั่นคือเจ้าตัวจะต้องตระหนักว่า เป็นปัญหาสำหรับตัวเองและอยากปรับปรุงแก้ไข จึงจะนำมาสู่ความสำเร็จได้ แต่ส่วนใหญ่คนที่กลุ้มใจและมองเห็นว่าเป็นปัญหามักจะเป็นบุคคลใกล้ชิดเสียมากกว่า และแสวงหาการปรึกษาจากผู้อื่นเพื่อจะช่วยเขา แต่ท้ายที่สุด หากเจ้าตัวไม่ตระหนักว่าเป็นปัญหาและอยากแก้ไขพัฒนาก็ยากที่จะการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะการชี้ชวนให้เห็นพฤติกรรมของตัวเองที่สัมพันธ์และส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นนั้นเป็นหัวใจสำคัญอย่างมากที่จะนำไปสู่การตระหนักรู้และเกิดการ เปลี่ยนแปลง เพราะผู้ที่มีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบส่วนใหญ่นั้นมักจะมองไม่เห็นหรือขาดความตระหนักถึงความสัมพันธ์ในสิ่งที่ตนเองทำและที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น และสังคม ด้วยมักจะมองแต่ตนเองเป็นที่ตั้งและทำตามใจตน กรณีนี้ช่วยได้ดีมากและมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เป็นระยะ ๆ เพราะเจ้าตัวตระหนักว่าเป็นปัญหาและอยากแก้ไขจริง ๆ

ส่วนกรณีที่สองที่เป็นข่าวดังของประเทศที่ผ่านมา ตราบที่เจ้าตัวยังไม่ตระหนักว่าเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นและสังคมอย่างไรก็คงยากที่จะแก้ไข แม้การลงโทษทางกฎหมายอาจเป็นวิธีทางพฤติกรรมบำบัดโดยกฏเกณฑ์ทางสังคมก็ตาม แต่หากเจ้าตัวไม่ตระหนักรู้และจริงใจที่จะแก้ไขอนาคตต่อไปก็น่าจะมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แค่เราพิเคราะห์ดูว่าเขาตัดสินใจขับรถในเขตเมืองหรือชานเมืองด้วยความเร็วประมาณ 220-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็บ่งชี้ได้ว่าไร้ความรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองและผู้อื่นแล้ว เพราะความเร็วขนาดนั้นยากที่จะบริหารความเสี่ยงจากการขับขี่ได้ จึงขับไปชนผู้อื่นในที่สุด ส่วนการมองถึงความสัมพันธ์ของการกระทำที่จะส่งผลต่อผู้อื่นและสังคมนั้น คงเกิดในรายนี้ยากยิ่ง เพราะแค่ความปลอดภัยของตนเองยังไม่ตระหนักเลย การจะให้ไปคิดถึงผลกระทบต่อผู้อื่นและสังคมนั้นคงเป็นไปได้น้อยเช่นกัน

การนำเสนอสองกรณีตัวอย่างดังกล่าว ผู้เขียนมุ่งให้ผู้อ่านทุกท่านได้ตระหนักถึงเรื่องความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นบุคลิกภาพภายใน และธรรมาภิบาลส่วนบุคคลที่จะนำมาสู่ความสันติสุขของตนเองและผู้อื่น แต่สิ่งที่ดีที่สุดและทุก ๆ คนควรร่วมกันทำเป็นอย่างยิ่งคือการป้องกันปัญหา มิใช่การแก้ไขตอนปลายทางในวัยที่สูงอายุแล้ว ซึ่งทำได้ด้วยการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานและลูกศิษย์ให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบจะเป็นแนวทางสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริงนั่นคือ

1) ฝึกให้รับรู้ความรู้สามารถและศักยภาพของตนเอง 2.) ฝึกให้เห็นความสัมพันธ์ของการกระทำตามความรู้ความสามารถของตนว่า หากกระทำหรือไม่กระทำจะส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นอย่างไร โดยฝึกให้เขาคิดเห็นความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งและกว้างขวางให้มากที่สุด เป็นการฝึกคิดออกนอกตนเพื่อลดความเห็นแก่ตัวในที่สุด 3.) ฝึกให้เขาคิดแยกแยะดูความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการกระทำว่ามีความเสี่ยงอะไรและอย่างไรและจะส่งผลกระทบอะไรและอย่างไรทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เพื่อจะนำมาสู่การฝึกคิดเพื่อบริหารความเสี่ยงต่อตนเองและผู้อื่นในที่สุด

การเป็นคนที่มีความรับผิดชอบนั้นยังมีคุณค่าต่อบุคคลในอีกหลายด้านนั่นคือนอกจากจะเป็นบุคลิกภาพภายในที่ส่งผลต่อความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองของบุคคลแล้ว ความรับผิดชอบยังสัมพันธ์กับความเป็นผู้มีความฉลาดทางอารมณ์ และความฉลาดทางสังคมอีกด้วย และยิ่งใหญ่ที่สุดคือผู้ที่มีความรับผิดชอบ นั่นคือรับทั้งผิดและชอบคือสุดยอดแห่งความกล้าหาญทางคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคล ซึ่งจะส่งผลให้เป็นบุคคลที่เปี่ยมธรรมาภิบาลส่งผลให้เป็นคนสุจริต องค์กรสุจริต และสังคมสุจริตในที่สุด

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts