In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

มาโมดิฟายความคิดกันเถิดครับ

ee

วิชัยมีความคิดตลอดมาว่าเป็นลูกที่พ่อแม่ไม่รัก คิดว่าเป็นคนที่ไร้ความสามารถ ทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจได้เฉกเช่นพี่ชาย เขาจึงเป็นคนเก็บตัวไม่กล้าแสดงออกใดๆ และถ้าไม่จำเป็นจะไม่ไปออกงานร่วมกับครอบครัวเพราะจะเปรียบเทียบในใจอยู่ตลอดมาว่าตนเองด้อยคุณค่า

ผู้เขียนรับมือกับการให้การปรึกษาทางโทรศัพท์แก่วิชัยมาเป็นระยะๆประมาณ2เดือนด้วยมิตรภาพที่ดี ด้วยการชี้ชวนเขาปรับความคิดทั้งในแนวจิตวิทยาตะวันตกตามทฤษฏีของAron Beak และพุทธจิตวิทยาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะความคิดดังกล่าวของเขาทำให้วิชัยเป็นทุกข์และมีภาวะจิตใจที่ซึมเศร้าหม่นหมองตลอดมา

จากการตั้งใจรับฟังและรวบรวมปัญหาของวิชัยและสังเคราะห์จนพบว่ารูปแบบความคิด(cognitive model)ของเขามีสามองค์ประกอบคือ 1)#ตัวเองไร้คุณค่า 2)#โลกรอบตัวไร้คุณค่า และ3)#อนาคตไร้คุณค่า ซึ่งเป็นรูปแบบความคิดที่ไม่เอื้อให้เขามีความสุขทางจิตใจเลย

กระบวนการช่วยเหลือปรับความคิดของวิชัยจึงได้เริ่มขึ้นและพัฒนามาตลอดสองเดือนจนโมดิฟายให้ฟิตกับความรู้สึกที่เป็นสุขได้ การจะปรับแก้ความคิด(modifying dysfunctional thoughts) หรือหากจะพูดเป็นภาษาที่ทันสมัยหน่อยก็อาจเรียกว่าการปรับมายด์เซ็ท(mindset)นั่นเอง ซึ่งมีหลักการดังนี้

ตามหลักการปรับแก้ความคิดต้องประเมินหรือตรวจสอบจากสองอย่างคือ1)ความถูกต้องตามความเป็นจริงของความคิดนั้นๆ และ2)ความคิดนั้นๆเป็นประโยชน์หรือไม่
1)#ตรวจสอบความถูกต้อง(valididy)ของความคิดตามความเป็นจริงนั่นคือตรวจสอบดูว่า จริงหรือที่วิชัยเป็นลูกที่พ่อแม่ไม่รัก? จริงหรือที่วิชัยเป็นคนไร้ความสามารถ? จริงหรือที่วิชัยทำสิ่งใดก็ไร้ความสำเร็จ? และจริงหรือที่วิชัยไม่สามารถทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจได้ ผู้เขียนได้ชวนวิชัยค้นหาสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความคิดของเขาจากหลักฐานเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต จนเขาพบว่าที่เขาคิดมาตลอดชีวิตนั้นไม่จริง

นอกจากนั้นยังชวนเขาปรับมุมองให้เข้าใจความจริงของความคิดใน #ระดับปรมัตถธรรมทางพุทธจิตวิทยาอีกด้วย นั่นคือเข้าใจคำว่า คิดสักแต่ว่าคิด ฟังสักแต่ว่าฟัง ทราบสักแต่ว่าทราบ โดยไร้การตีความและปรุงแต่งใดๆกระทั่งเข้าใจการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปและความเป็นอนัตตาของความคิดนั่นเอง

2) #ตรวจสอบประโยชน์(utility)ของความคิด กล่าวคือชวนวิชัยใคร่ครวญดูว่าการคิดแบบเดิมที่เขาคิดนั้นไร้ประโยชน์และไม่ช่วยให้จิตใจเขาเป็นสุขเลย และชี้ชวนให้เขามีมุมมองใหม่โดยค้นหาคุณค่าภายใต้สถานการณ์เดิมคือ การเป็นลูกชายคนเดิม การมีพ่อแม่คนเดิม การมีพี่ชายคนเดิม ช่วยให้วิชัยได้เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์และเห็นความหมายใหม่ที่ดีงามของตัวเขาเองและความสัมพันธ์ที่ดีงามต่อบุคคลรอบข้างมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยสถานการณ์เดิมไม่ได้มีผลต่อความรู้สึกอย่างใดมากนัก แต่การรับรู้และการตีความต่างหากที่ส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกและพฤติกรรมอย่างลึกซึ้ง

การช่วยปรับความคิดของวิชัยตามที่ผู้เขียนเล่ามานั้นอาจจะดูเหมือนสั้นนิดเดียว แต่การลงมือช่วยเหลือนั้นไม่สั้นเลย ทั้งยังต้องทำด้วยความเมตตากรุณาอย่างที่สุด สังคมทุกวันนี้มีคนที่มีความคิดบิดเบือนไปจากความสงบสุขและคิดลบกันอยู่มาก ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนทุกท่านหันมาปรับความคิดให้เห็นคุณค่าของตนเองบุคคลรอบข้างและสรรพสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการทำนองที่กล่าวมา #เพราะการเห็นคุณค่าจะนำมาซึ่งความสงบสุขทางจิตใจทั้งยังช่วยให้เป็นผู้ที่มีความฉลาดทางสังคม(sq)อีกด้วย

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ wuttipong academy ,ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส ,กรรมการบริหารมูนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุงและประธานกองทุนกิจกรรมทางสังคมเพื่อสุขภาพจิต 12/สค/63

Recommended Posts