In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

พลังจิตบริการยิ่งให้ยิ่งได้

mind-service

เมื่อหลายวันก่อนกัลยาณมิตรรุ่นน้องซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เขาดูแลลูกค้าต่างชาติที่นำเงินมาฝากธนาคารที่เขาเป็นผู้จัดการอยู่เป็นอย่างดีดุจญาติมิตร ด้วยการอำนวยความสะดวกและแนะนำสิ่งต่าง ๆ ที่ชาวต่างชาติต้องการความช่วยเหลือ แม้กระทั่งการรับส่งดูแลการเจ็บป่วยในภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนการดูแลญาติมิตรของเขาเมื่อมาเที่ยวเชียงใหม่ด้วยความสม่ำเสมอตลอดมา ด้วยการบริการดุจญาติมิตรและจิตบริการอย่างแท้จริงและสม่ำเสมอส่งผลให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจ ซึ่งเป็นผลลัพธ์อย่างยิ่งใหญ่ที่ผู้ให้บริการและสถานประกอบการต้องการ ทั้งยังเป็นการสร้างความภักดีต่อสินค้าและองค์กรเป็นอย่างดี จนมีลูกค้าชาวต่างชาติหลายรายเมื่อทราบว่าเขาจะย้ายไปเป็นผู้จัดการสาขาอื่นจึงขอย้ายเงินฝากตาม เรียกได้ว่าบริการดีจนมีลูกค้าภักดีต่อสินค้าและองค์กรอย่างแท้จริง

เห็นคุณค่าในการได้ช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม
มิใช่ทำงานเพียงเห็นว่าเป็นเครื่องมือ
ในการสร้างรายได้เพื่อการยังชีพเท่านั้น

ละเมื่อไม่นานมานี้ชาวต่างชาติท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกค้าของเขาเสียชีวิตและได้ทำพินัยกรรมยกบ้านและที่ดินราคาประมาณ 10 ล้านบาทไว้ให้เขา เพื่อเป็นการตอบแทนที่บริการเขาดีดุจญาติมิตรตลอดมา เขาเล่าให้ผู้เขียน ฟังว่าเขาตกใจมากกว่าดีใจที่ได้รับการตอบแทนเช่นนั้น เพราะเขาให้บริการดุจญาติมิตรโดยมิเคยคิดที่จะหวัง สิ่งตอบแทนทางวัตถุใด ๆ และทำด้วยใจเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลลูกค้าทุกอย่างที่เขาต้องการและอยู่บนพื้นฐาน ของคุณธรรมจริยธรรมในวิชาชีพ

tr
เด็กชายธนวิน ธนพรธวิล อายุ 7 ขวบ นักเรียนโรงเรียนสาธิต แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การที่ผู้เขียนนำเสนอตัวอย่างดังกล่าวนั้นมิได้มีความหมายที่ให้ความสำคัญกับการได้รับการตอบแทน ทางวัตถุที่มูลค่า 10 ล้านบาท แต่ต้องการนำเสนอให้เห็นว่าการทำความดีและมีจิตอาสาบริการอย่างแท้จริงนั้น จะได้รับผลลัพธ์ที่ดีงามและยิ่งใหญ่เสมอเท่านั้นเอง บุคลิกภาพแบบจิตอาสานั้นเป็นโครงสร้างทางความคิดและความรู้สึกเชิงลึกที่ส่งผลให้การบริการดีอย่างแท้จริงและยั่งยืน

ด้วยความที่จะเป็นผู้ที่มีจิตอาสาหรือจิตบริการอย่างแท้จริงนั้นต้องได้รับการพัฒนามาตั้งแต่วัยเยาว์ จนเป็นบุคลิกภาพหรืออุปนิสัยถาวร หน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานด้านการบริการอย่างจริงจังจึงได้คัดเลือกบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานอย่างเข้มงวด ด้วยการให้ทดสอบบุคลิกภาพและความฉลาดทางอารมณ์ที่เอื้อต่อการทำงานด้านบริการ และรับมาอบรมระยะสั้น ๆ ก็สามารถทำงานบริการได้เป็นอย่างดี เพราะหน่วยงานหลายแห่งพบว่าการรับบุคลากรที่อุปนิสัยพื้นฐานไม่เอื้อต่อการทำงานบริการเข้ามาทำงานนั้น แม้จะอบรมครั้งแล้วครั้งเล่าบุคลากรเหล่านั้น ก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริการให้ดีได้ระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่นานนักก็กลับไปใช้พฤติกรรมหรืออุปนิสัยเช่นเดิม ที่ไร้จิตบริการมาแต่วัยเยาว์นั่นเอง

หลายหน่วยงานมักประกาศว่าเป็นองค์กรที่บริการดุจญาติมิตร แต่มิได้ดูแลดุจญาติมิตรอย่างแท้จริง ทำเพียงแค่สร้างมิตรภาพพื้นฐานด้วยการทักทายและยิ้มแย้มแจ่มใสเท่านั้นเอง แต่การบริการดุจญาติมิตรนั้น ควรเป็นการบริการดุจญาติจริง ๆ และไร้เงื่อนไขของกาลเวลา กล่าวคือให้ความช่วยเหลือได้ทุกเวลา โดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน ด้วยความเต็มใจและห่วงใยใส่ใจอย่างแท้จริง

จิตที่จะพัฒนาให้เป็นจิตบริการหรือจิตอาสาโดยมองเห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นเป็นความสูงส่งทรงคุณค่านั้น ต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่วัยเยาว์ให้รู้จักการแบ่งปัน ดูแลเอาใจใส่และช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น หากพ่อแม่ผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็กและสอนแบบเห็นแก่ตัว เมื่อโตขึ้นเขาก็จะเป็นคนเห็นแก่ตัว คำว่าจิตบริการ จิตอาสา หรือจิตสำนึกสาธารณะก็จะไม่เกิดในความคิดและความรู้สึกของเขา เขาจะขาดความเข้าใจเห็นใจผู้อื่น ดำรงชีวิตโดยมีความคิดความต้องการของตนเป็นศูนย์กลางแต่เพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดปัญหาในการปรับตัวและมิตรภาพกับผู้อื่นและสังคม

เมื่อไม่นานมานี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เผยแพร่การทำงานจิตอาสาของ เด็กชายธนวิน ธนพรธวิล อายุ 7 ขวบ นักเรียนโรงเรียนสาธิต แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้เขียนจดหมายถึงโรงพยาบาล โดยขออาสามาเล่นดนตรีกู่เจิ่ง โครงการดนตรีจิตอาสาเพื่อบรรเลงให้ผู้ป่วยและญาติได้ฟังระหว่างรอแพทย์ตรวจ ในวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงปิดเทอม เพราะอยากมีส่วนช่วยเหลือสังคม นี้คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าชื่นชมในการอบรมบ่มเพาะความมีจิตอาสาหรือจิตบริการให้เยาวชนได้เป็นอย่างดี

จิตอาสา คือ จิตของผู้ให้ ในมงคลทีปนีซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพุทธศาสนากล่าวไว้ว่าการให้หรือจิตของผู้ให้หรือให้ทานอย่างแท้จริงนั้น ต้องเป็นจิตที่ปีติและเปี่ยมสุข นั่นคือต้องมีภาวะความรู้สึกที่ดีงาม ทั้งสามขณะคือ “ก่อนให้ใจเบิกบาน” “ขณะให้ใจสำราญ” “หลังให้ใจยินดี” นั่นคือมีความรู้สึกปีติยินดีอยู่ทุกขณะจิตของการให้ทานหรือให้บริการใด ๆ ในพุทธปรัชญาถือว่าเป็นจิตที่เปี่ยมกุศล เป็นบุญ และไร้กิเลสทั้งยัง เป็นรากฐานแห่งธรรมมาภิบาลอีกด้วย จะส่งผลให้พบแต่ภาวะที่ดีงามทั้งทางโลกและทางธรรม ดังเช่นตัวอย่างของผู้จัดการธนาคารที่ได้กล่าวมาแต่ต้น

จิตอาสาหรือจิตบริการสามารถทำได้ทั้งในงานประจำตามอาชีพของแต่ละคน ด้วยการบริการดุจญาติมิตร ด้วยการดูแลเอาใจใส่ผู้รับบริการอย่างเต็มกำลังกายและใจด้วยมิตรภาพ หรือทำเป็นโครงการจิตอาสาเฉพาะตน เฉกเช่นเด็กชายธนวิน ดังที่ได้กล่าวมา จนกระทั่งรวมตัวกันเป็นสมาคม ชมรม สโมสรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมที่กว้างขวางยิ่งขึ้น

จิตอาสาหรือจิตบริการใช่เพียงแต่เป็นจิตที่เปี่ยมสุขและเป็นกุศลเท่านั้น แต่เบื้องหลังของความมีจิตอาสาหรือจิตบริการคือจิตแห่งการสำนึกรู้คุณ โดยเฉพาะรู้คุณค่าต่อผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม เมื่อไหร่ที่มีจิตสำนึกรู้คุณจะนำมาสู่สภาวะทั้งความคิดและการกระทำที่สงวนรักษาและเมตตาปราณีต่อกันในที่สุด.

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts