In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

แค่มองหน้าก็ฆ่ากันหรือ : แนวทางการป้องกัน

ระยะนี้มีข่าวดังกรณีที่วัยรุ่นขับมอเตอร์ไซค์ขว้างปาก้อนหินใส่วัยรุ่นขับมอเตอร์ไซค์อีกคนหนึ่งโดนศรีษะจนเสียชีวิต เป็นข่าวดังที่ทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ต่างก็นำเสนอกันโดยถ้วนหน้า กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาและด่าทอ โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่ขว้างปาหินนั้นมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้ข้อมูลว่าที่ปาก้อนหินใส่นั้น เนื่องจากน้องเขามองหน้าทำนองหาเรื่อง ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้ก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆกับวัยรุ่นในท้องที่ต่างๆ ดูช่างไร้เหตุผลเหลือเกินในความคิดของผู้ใหญ่ แต่สำหรับวัยรุ่นเหล่านั้นอาจมีความหมายที่แตกต่างออกไป

s__16629774

#วัยรุ่นเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มเด็กเกเรต่อต้านสังคมหรือจนถึงขั้นเป็นอันธพาล ซึ่งการมองเช่นนั้นก็ไม่ได้ผิดแต่ประการใด ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์เยาวชนที่เป็นกลุ่มเด็กเกเรและต่อต้านสังคมกระทั่งชวนกันไปทำร้ายผู้อื่นและทำลายทรัพย์สินสาธารณะต่างๆ พวกเขาให้ข้อมูลว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้เขาได้รับการยอมรับนับถือจากกลุ่มเพื่อนและเป็นคนเก่งและมีความภูมิใจที่แสดงออกเช่นนั้นจนเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูงได้ ในขณะที่มีวัยรุ่นอีกจำนวนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อเห็นกลุ่มเพื่อนกระทำเช่นนั้นเขาทำใจไม่ได้เพราะสงสารคนที่ถูกทำร้ายจึงปลีกตัวตัวออกจากกลุ่มในที่สุด

#ธรรมชาติของวัยรุ่นนั้นอยากเป็นคนเก่งอยากโตอยากโชว์อยากช่วยอยากให้ผู้อื่นชื่นชมเสมอ และการกระทำของเด็กกลุ่มเกเรเหล่านี้ก็ยังอยู่ในแนวคิดของการที่เขารู้สึกว่าเขาเก่งและได้รับการชื่นชมจากกลุ่มเพื่อนฝูงเช่นกัน ทั้งๆที่การทำร้ายผู้อื่นและทำลายสิ่งสาธารณะเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมจรรยาและต่อต้านสังคม ดังนั้นหากมองว่าเยาวชนทุกคนเกิดมาบริสุทธ์การอบรมเลี้ยงดูจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างที่สุดที่จะส่งผลให้เขาเติบโตมาเป็นคนดีที่รับผิดชอบต่อสังคมหรือกลายเป็นคนต่อต้านสังคม

#ดังนั้นในแนวคิดของผู้เขียนเองจึงไม่มีคำว่าเด็กเกเรมีแต่เด็กที่เติบโตมาอย่างขาดและพลาดพร่องเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องช่วยกันเติมเต็มสิ่งที่ดีงามให้กับเขาต่างหาก เว้นเสียแต่เด็กที่มีปัญหาเป็นอันธพาล(psychopath)อันเกิดจากระบบสมองและประสาทผิดปกติเท่านั้น การจะเลี้ยงดูเด็กๆและเยาวชนให้เติบโตมาให้เป็นคนดีและไร้การต่อต้านสังคมนั้นสามารถทำได้หลายวิธีแต่สำหรับในบทความครั้งนี้จะแนะนำเพียงห้าวิธีดังต่อไปนี้

1)#อย่าเลี้ยงลูกแบบตามใจหรือเข้มงวดจนเกินไป การเลี้ยงดูควรเป็นการเดินทางสายกลางเช่นหลายๆเรื่องในชีวิตนั่นคือให้อิสภาพทางความคิดแก่เด็กๆอย่างสมเหตุผลและสร้างกติกาห้ามปรามในบางสิ่งบางอย่างที่อาจเกิดอันตรายต่อตัวเขาและผู้อื่น การเลี้ยงดูเช่นนี้เด็กเๆจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควรจะส่งผลต่อความคิดอารมณ์ความรู้สึกและการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลต่อเขาจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

2)#แสดงออกให้เด็กๆรู้สึกว่าเขาเป็นที่รักของเรา การทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกว่าตัวเขาเป็นที่รักและได้รับการดูแลห่วงใยใส่ใจจากผู้ใหญ่นั้น เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งทางจิตวิทยาที่จะส่งผลทำให้เขารู้สึกมีความภาคภูมิใจในชีวิต มีคุณค่าและเห็นว่าตนเองมีตัวตนอยู่ในครอบครัวและสังคม การทำให้เขารู้สึกว่าเป็นที่รักนั้นจำเป็นต้องมีการแสดงออกที่เหมาะสมด้วยการสื่อสารที่สมเหตุผล เนื้อหาที่ห่วงใยใส่ใจ รู้จักโอบกอดและบอกรักแก่เขาเป็นระยะๆจนเขารับรู้ได้ว่าเขาเป็นที่รักของเรา

3)#ฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบและห่วงใยใส่ใจต่อสิ่งอื่น การกระทำเช่นนี้จะพัฒนาคุณธรรมด้านความเมตตากรุณาในเด็ก กล่าวคือการเปิดโอกาสให้เด็กๆได้แสดงออกถึงความห่วงใยใส่ใจและมีเมตตากรุณานั้นเป็นหัวใจสำคัญที่จะฝึกความคิดและอารมณ์ด้านความเข้าใจเห็นใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เช่นให้เด็กๆได้มีโอกาสเลี้ยงสัตว์ที่เขาชื่นชอบ อาธิ สุนัข แมว ปลาหรืออื่นๆ และให้เขาได้เรียนรู้วิธีการดูแลเอาใจใส่ในสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น จะเป็นการฝึกให้เขารู้จักรับผิดชอบและดูแลเอาใจใส่ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกได้

4)#หมั่นชื่นชมเขาอย่างสม่ำเสมอ การหมั่นชื่นชมเด็กและเยาวชนอย่างสม่ำเสมอนั้นเป็นการแสดงออกถึงการยอมรับนับถือและความไว้วางใจที่เรามีต่อเขา จะช่วยให้เขาเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญทางจิตวิทยาที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นมารักตัวเองเป็น รักผู้อื่นเป็น และมีความเข้าใจเห็นใจต่อผู้อื่นได้เช่นกัน อนึ่งการชื่นชมนั้นต้องชื่นชมในสิ่งที่เขาได้คิดและได้ทำในสิ่งที่ดีงามพร้อมทั้งบอกเหตุการณ์และพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเขาทำในสิ่งที่ดีงามนั้นจริงๆ และเรามีความภูมิใจในตัวเขา

5)#อย่าเลี้ยงลูกด้วยการข่มเหงทั้งร่างกายและจิตใจ จากทั้งประสบการณ์ของผู้เขียนและทฤษฎีพบว่าเด็กที่เกเรและต่อต้านสังคมจำนวนมากนั้น มักถูกพ่อแม่และคนในครอบครัวเลี้ยงดูมาลักษณะที่บีบคั้นจิตใจไร้อิสรภาพหรือปล่อยปละละเลยจนเกินไป เพราะการที่เด็กเติบโตมาด้วยความรู้สึกที่แร้นแค้นและถูกข่มเหงทั้งทางกายและทางใจนั้น มักเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้เขาไปรวมกลุ่มกับเด็กที่เติบโตมาในบริบทใกล้เคียงกันแล้วลงมือกระทำการต่อต้านสังคมในรูปแบบต่างๆ

หากทุกครอบครัวสามารถเลี้ยงดูลูกหลานได้ตามหลักการอย่างน้อยห้าข้อที่กล่าวมา เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยทีช่วยป้องกันและแก้ไขเด็กที่เกเรก้าวร้าวและต่อต้านสังคมได้ในที่สุด ด้วยแนวคิดของผู้เขียนที่ว่า “#เด็กเกเรไม่มีหรอกครับมีแต่เด็กที่ขาดและพลาดพร่องรอให้ผู้ใหญ่เติมเต็มและแก้ไขเท่านั้นครับ

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy และกรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts