In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

วันสุขภาพจิตโลกกับสุขภาพจิตเยาวชน

world-mental-health-day-10-october-2018

ใน วันที่ 10 ตุลาคมปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญวันสุขภาพจิตโลกไว้ว่า Young people and mental health in changing world นั่นคือเยาวชนและสุขภาพจิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก การที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดคำขวัญขึ้นเช่นนั้นผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเพราะการให้คุณค่าต่อการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเยาวชนนั่นเอง ด้วยปัจจุบันพบว่าผู้ที่เจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตประมาณ 50% เริ่มพบอาการประมาณอายุ 14 ปีขึ้นไปและปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากในกลุ่มเยาวชนสามอันดับแรกคือ การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด,ปัญหาการฆ่าตัวตายและโรคซึมเศร้า

mental-health

ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชนั้นใช่มีปัญหาเฉพาะการป่วยของตนเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลใกล้ชิดทั้งครอบครัวสถานที่ทำงานและสังคมโดยรวม กระทั่งกระทบไปถึงมิติทางเศรษฐศาสตร์ในระดับมหภาคของประเทศอีกด้วย ดังนั้นหากมีเยาวชนป่วยด้านสุขภาพจิตมากขึ้นนั่นหมายถึงแนวโน้มของประชากรโลกที่ จะมีสุขภาพจิตไม่สมบูรณ์ซึ่งจะส่งผลกระทบรอบด้านของสังคมเช่นเดียวกัน

ปัญหาสุขภาพจิตที่พบในกลุ่มเยาวชนทั้งการใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด การฆ่าตัวตายและโรคซึมเศร้านั้น ทั้งสามอย่างมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งยวด อาทิ จากสถิติพบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายจะมีความสัมพันธ์กับการใช้แอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 80 และเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มีความสัมพันธ์ต่อการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน ดังนั้นการจะป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งสามอย่างนั้น ทั้งตัววัยรุ่นเองและพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดถึงครูบาอาจารย์และสังคมโดยรวมจะต้องมีความเข้าใจร่วมกันและป้องกันแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย

การจะป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นดังกล่าวในด้านของพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเลี้ยงดูเยาวชนด้วยความเข้าอกเข้าใจและด้วยความรัก และสิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้เยาวชนรู้สึกได้ว่าเขาเป็นที่รักของพ่อแม่ผู้ปกครองโดยไร้เงื่อนไขไม่ว่าเขาจะพบเหตุการณ์ใดใดในชีวิตหรือตัดสินใจอย่างไรถูกต้องหรือผิดพลาดเขาก็ยังเป็นที่รักของพ่อแม่ผู้ปกครองเสมอ นั่นแหละคือเครื่องมือสำคัญที่จะเยียวยาและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆได้เป็นอย่างดี

การสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดในจิตใจของเยาวชนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตต่างๆเพราะการที่เยาวชนรู้สึกถึงความมีคุณค่าจะช่วยเติมเต็มป้องกันความรู้สึกขาดและพลาดพร่องที่จะทำให้สุขภาพจิตแปรปรวนได้ การจะส่งเสริมให้เยาวชนมีความภาคภูมิใจนั้นทำได้หลายวิธีเช่น ส่งเสริมให้เขาได้แสดงออกในสิ่งที่เขาชื่นชอบและอยู่ในทำนองคลองธรรม เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความเป็นผู้ใหญ่และมีความรับผิดชอบตามเหตุผลอันควรโดยอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ตลอดจนเมื่อเขาทำสิ่งที่ดีงามใดใดควรยกย่องเชิดชูและชื่นชมทุกๆครั้ง เพราะการเชิดชูและชื่นชมจะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในชีวิต เมื่อเกิดความสูญเสียใดใดที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจจะได้เป็นภูมิต้านทานทางใจ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นได้นั่นเอง

นอกจากนั้นทั้งเยาวชนและผู้ปกครองตลอดถึงคุณครูพึงรู้ว่าธรรมชาติของเยาวชนหรือวัยรุ่นนั้น เขาอยากเรียน อยากรู้ อยากลอง อยากเป็นคนเก่ง อยากโต อยากโชว์ อยากช่วยและสำคัญที่สุดคืออยากให้ผู้อื่นชื่นชม ดังนั้นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกต่างๆที่เขาชื่นชอบอย่างมีความรับผิดชอบและเป็นที่ไว้วางใจของผู้ใหญ่ได้ โดยอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ในทิศทางที่ป้องกันปัญหาและความเสี่ยงต่างๆได้นั้น จะช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตและสุขภาพทางสังคมแก่เยาวชนได้เป็นอย่างดี

ส่วนการตั้งข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพจิตที่อาจมีทิศทางไปสู่การเจ็บป่วยนั้น ทั้งเยาวชนเองและผู้ปกครองควรตั้งข้อสังเกตร่วมกันและเมื่อเห็นแนวโน้มในทางที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยก็ให้รีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที เช่นเห็นเยาวชนดื่มแอลกอฮอที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น เห็นสีหน้าท่าทีและพฤติกรรมของเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นจากการร่าเริงสดชื่นชื่นแจ่มใสไปเป็นซึมเศร้าร้าวรานใจและเก็บตัว ตลอดจนถึงสื่อสารในทำนองสั่งเสียฝากฝังและสั่งลาเป็นสัญญาณเตือนคิดจะฆ่าตัวตาย ก็ต้องรีบช่วยเหลือนำมาพบจิตแพทย์อย่างฉับไว จะช่วยป้องกันปัญหาได้เป็นอย่างดี

การตั้งข้อสังเกตและพบสัญญาณเตือนโดยเร็วและนำเข้าสู่การบำบัดรักษาโดยเร็วนั้น เป็นมิติหนึ่งของการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเพราะแนวคิดในปัจจุบันการป้องกันนั้นสามารถทำได้ในทุกช่วงของอาการแต่จะต้องเป็นลักษณะของการตั้งข้อสังเกตและทำงานในลักษณะโปรแอคทีฟคือตั้งข้อสังเกตล่วงหน้าและลงมือปฏิบัติที่เป็นความระมัดระวังปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างฉับไว ทั้งนี้หากตัวเยาวชนเองก็รู้จักตั้งข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงสุขภาพจิตของตัวเองได้ ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูก็สามารถตั้งข้อสังเกตเห็นได้เช่นกัน และตระหนักรู้ว่านั่นคือแนวโน้มของการเจ็บป่วยทางจิตใจ แล้วรีบพากันไปหาหมอจะช่วยกันป้องกันปัญหาได้เป็นอย่างดี

แม้เราทุกคนไม่อาจต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ แต่การ มีความภาคภูมิใจในชีวิตและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและปรับตัวได้โดยมีสติรู้เท่าทันปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นรู้เท่าทันปัญหาของการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด รู้เท่าทันความเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี นั่นคือป้องกันแก้ไขปัญหาจากโลกภายในของตัวเรานั่นเอง หากทำได้เช่นนี้เยาวชนในยุคโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นเยาวชนที่รับมือต่อปัญหาสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เป็นพลเมืองคุณภาพดีของโลกและสังคมต่อไป

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts