In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

แม้แต่ลมหายใจยังรู้สึกผิด

colleague1

“อาจารย์ครับ เคยไหมครับที่อยู่ในบางที่แล้วรู้สึกว่าแม้แต่หายใจเข้าออกก็ยังรู้สึกผิด ผมควรทำอย่างไรดีครับ” นั่นเป็นคำถามที่กัลยาณมิตรของผู้เขียนท่านหนึ่งพิมพ์เข้ามาถามทางไลน์

ผู้เขียนพิมพ์ตอบไปว่า “คุณกำลังรู้สึกแย่ต่อทั้งตนเองและสภาพแวดล้อมที่คุณอยู่ร่วม”

เขาตอบกลับมาว่า “ใช่เลยครับผมควรทำอย่างไรดี”

ผู้เขียนตอบว่า
“1.) ค้นหาคุณค่าและคุณงามความดีในที่อยู่เดิม มองให้เห็นคุณค่าเห็นโอกาสเห็นความหวังและเห็นความหมายใหม่ในเหตุการณ์เดิม แล้วอยู่ในที่เดิมให้ได้ด้วยวิธีคิดและมุมมองใหม่หรือ
2.) เปลี่ยนที่ๆ เคยอยู่ไปอยู่ที่ใหม่ครับ”

เขาตอบว่า “งงครับ ผมควรทำอย่างไร”

ผู้เขียนจึงตอบไปว่า “เช่นนั้นควรโทรหาผมครับ” ​ที่ผู้เขียนตอบไปเช่นนั้นด้วยเข้าใจว่าความรู้สึกที่เกิดกับเขานั้นเป็นความรู้สึกทางลบมาก แค่ประโยคสั้นๆ ที่ว่า แม้ลมหายใจเข้าออกก็รู้สึกผิดนั้น สะท้อนความคิดและความรู้สึกที่ไร้พลัง ไร้ความหวังและไร้คุณค่าครับ เมื่อเขาโทรศัพท์มาสนทนากับผู้เขียนจึงได้ความว่า

ะยะสองวันที่ผ่านมาบริษัทที่เขาทำงานอยู่ด้วยเปิดโอกาสให้พนักงานขายที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในปีนี้มีโอกาสเลือกห้องทำงานก่อน ซึ่งมีให้เลือกประมาณ 5 ห้อง เขาดีใจมากเพราะจะได้เลือกเป็นคนแรก ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่จะเลือกห้องทำงานจริงๆ หัวหน้าฝ่ายบอกว่า เขาไม่ใช่คนที่มียอดจำหน่ายสูงสุดแล้วและไม่ได้เลือกเป็นคนแรก เพราะการรวมยอดจำหน่ายสูงสุดนำยอดของปีที่ผ่านมามารวมด้วย เขาจึงตกมาเป็นลำดับสาม เขารู้สึกเสียใจและรู้สึกว่าถูกหัวหน้างานกลั่นแกล้ง นอกจากนั้นเมื่อเลือกก็ไม่มีใครบอกว่าห้องไหนมีโต๊ะทำงานหรือไม่มี ในที่สุดเขาจึงได้ห้องท้ายสุดของแผนกเป็นมุมอับและไม่มีเฟอร์นิเจอร์ใดๆ เลย จึงต้องหาเข้ามาเอง

colleague2

และเมื่อเสนอวิธีการทำงานในการประชุมของบริษัทในวันที่ผ่านมาเรื่องการพัฒนาผู้นำการขายอิสระให้มากขึ้น เขาจึงพยายามเสนอวิธีการดีๆ ที่น่าจะร่วมกันพัฒนาได้ แต่หัวหน้าและทีมงานคนอื่นๆ กลับมองเขาแปลกๆ และไม่ยอมรับข้อเสนอแนะจากเขาแล้วบอกเขาว่าให้ไปทดลองทำเองก่อนแล้วกัน หากได้ผลแล้วค่อยมานำเสนอ เขาเล่าว่าเขารู้สึกแย่มากๆ กับหัวหน้าและผู้ร่วมงานตลอดจนบรรยากาศในการทำงานจึงสื่อสารมาถึงผู้เขียนดังที่ได้กล่าวมา
​เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเขากำลังรู้สึกลบต่อที่ทำงานและสภาพแวดล้อมมากๆ หากย้อนไปถึงคำตอบแรกที่ผู้เขียนแนะนำไว้นั้นคือ ให้เขาค้นหาโอกาสคุณค่าและความหมายใหม่ในเหตุการณ์เดิมว่าดีอย่างไร กล่าวคือเมื่อย้อนไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แล้วยังมองด้วยมุมมองเดิมอยู่ก็จะมีชีวิตอยู่ด้วยความ ชอกช้ำอยู่ร่ำไป แต่เมื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่แล้วจิตใจจะเบิกบานนั่นเอง

นอกจากนั้นผู้เขียนยังชื่นชมที่เขาเป็นคนที่มีวิธีคิดสร้างสรรค์หาวิธีการพัฒนางานในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้นำที่จะมีความเจริญก้าวหน้า ส่วนการที่ที่ประชุมไม่รับข้อเสนอนั้นก็อาจเกิดจากหลายปัจจัยทั้งความพร้อมของทีมงาน วิสัยทัศน์ผู้บริหารหรืออื่นๆ แต่สิ่งที่ผู้เขียนชวนเขามองเข้ามาในตัวตนของเขา คือการเสนอความคิดเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ดีเขาได้ทำความดี คิดดี คิดสร้างสรรค์ ความดีและคุณสมบัติฝ่ายดีเกิดขึ้นที่ตนแล้ว และหากวิธีการที่เสนอแนะสามารถทดลองทำด้วยตัวเองและในทีมงานของเขาเองได้ก็สามารถทดลองทำได้ตามที่ที่ประชุมเขาแนะนำกลับมานั่นแหละ และหากทำได้ดีขึ้นผลงานใหม่ดีๆ ก็เกิดขึ้นกับเขาเองและทีมงานในที่สุด

ในที่สุดเมื่อชวนเขาปรับมุมมองใหม่ก็พบว่าการมีห้องทำงานอยู่มุมท้ายตึกมีข้อดีคือ ไม่มีคนเดินผ่านไปมามาก ไม่พลุกพล่านเพราะคนที่นัดมาพบในห้องทำงานส่วนใหญ่เป็นลูกค้าหรือทีมงานที่รับนัดแล้วและตั้งใจมาหาเขาจริงๆ จึงไม่ยุ่งยาก ประกอบกับแนะนำห้องก็ง่ายคือ “ห้องท้ายสุดซ้ายมือ” และยังเป็นห้องที่ติดกับห้องนั่งดื่มกาแฟและรับประทานอาหารว่างของแผนกด้วย เดินไปชงกาแฟก็ง่ายสะดวกสบาย กระทั่งได้เห็นผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ที่เดินผ่านมาชงกาแฟ ว่าใครมาทำงานบ้างแต่งกายเป็นอย่างไร เป็นต้น นั่นคือในที่สุดเขาก็มองเห็นคุณค่าและความหมายใหม่ๆ ในเหตุการณ์เดิม ซึ่งช่วยให้เกิดความรู้สึกดีๆ ต่อห้องทำงานที่ได้มา

เราสนทนากันอีกพอสมควรโดยผู้เขียนชวนให้เขาคิดน้อมเข้ามาที่ตนและปรับความคิดของตัวเอง ปรับมุมมองใหม่ในเหตุการณ์เดิม เพื่อสร้างความคิดบวก และรู้สึกบวกให้เกิดขึ้นแทน ภายหลังเขาโทรศัพท์กลับมาเล่าให้ฟังว่า จากความรู้สึกที่ว่า “แม้แต่ลมหายใจยังรู้สึกผิดเปลี่ยนมาเป็นทุกลมหายใจมีแต่ความหวังและ เห็นความหมายใหม่เสมอ”

นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ให้ข้อคิดแก่ทุกท่านได้ว่า การสามารถปรับความคิดอยู่ได้กับสภาพแวดล้อมเดิมและเป็นผู้ที่มองเห็นคุณค่าเห็นโอกาสและเห็นความหมายดีๆ ในเหตุการณ์เดิมๆ ได้นั้น จะช่วยให้เกิดความรู้สึกดีๆ (Positive Feeling)ในชีวิตได้ทุกโอกาส ขณะเดียวกันก็เข้าใจและยอมรับผู้อื่นที่อาจมีความรู้ความคิดต่างไปจากเรา ไม่นำมาคิดในเชิงลบ แต่นำมาเป็นข้อคิดเพื่อการพัฒนาตนและพัฒนาทีมงาน จะเป็นคุณสมบัติฝ่ายดีที่เป็นปัจจัยสู่ความรุ่งเรืองดีงามต่อสุขภาพจิตเพื่อส่งเสริมให้ชีวิตและหน้าที่การงานรุ่งเรืองในที่สุด

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts