In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

heartbreak

#เป็นธรรมดาครับหากแม้นใครๆที่เจอเหตุการณ์เช่นเดียวกับคุณก็คงรู้สึกไม่ต่างจากคุณหรอกครับ” นั่นเป็นคำพูดประโยคที่ผู้เขียนสื่อสารกับสตรีท่านหนึ่งที่โทรศัพท์มาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต หลังจากที่เธอเล่าเรื่องราวของเธอให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่เจ็บปวดระคนการร้องไห้ ด้วยเพราะเธอถูกผู้ชายที่เธอรักมา 15 ปี ทอดทิ้งไปมีผู้หญิงคนใหม่ ทั้งๆ ที่เธอเป็นฝ่ายช่วยเหลือดูแลผู้ชายคนนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง เธอรู้สึกเจ็บปวดร้าวรานใจมากจนอยากจะฆ่าตัวตายและฆ่าผู้ชายคนนั้น แม้แต่เธอเล่าให้พ่อแม่พี่น้องหรือเพื่อนๆฟังทุกคนต่างก็ประณามเธอพร้อมทั้งตอกย้ำว่า
• “เห็นไหม ฉันว่าแล้วต้องเกิดเหตุการณ์อย่างนี้สักวันหนึ่งจนได้”
• “พี่เคยเตือนเธอแล้วไง แต่เธอไม่เชื่อเอง เขาอายุอ่อนกว่าเธอตั้ง 10 ปี จะอยู่กับเธอได้ยังไงหวังผลประโยชน์จากเธอน่ะสิ”
• “ดีแล้วที่มันจากเธอไป เธอจะได้หมดเวรหมดกรรมเสียที มันหลอกเอาเงินเธอมามากแล้ว”
• “ทุกอย่างเธอสร้างขึ้น เธอต้องเป็นคนแก้ไขเอง ดีแล้วจะได้กลับตัวกลับใจตั้งต้นชีวิตใหม่”

นั่ นคือคำพูดจากผู้ใกล้ชิด ที่เธอคาดหวังว่าจะเข้าใจเห็นใจและให้คำปรึกษาในภาวะที่เธอเจ็บปวดได้ แต่เธอกลับพบว่าคำพูดเหล่านั้นยิ่งทำให้เธอปวดร้าวไร้คุณค่าและรู้สึกว่าเป็นคนผิดปกติยิ่งขึ้น

heartbreak2

ภายหลังจากที่ผู้เขียนให้การปรึกษาทางโทรศัพท์เธอมาประมาณ3เดือน จนเธอปรับตัวปรับใจได้ เธอก็ขาดการติดต่อกับผู้เขียนไปหลายเดือน จนกระทั่งเกือบครบหนึ่งปี เธอโทรศัพท์มาสวัสดีปีใหม่และบอกกับผู้เขียนว่า “เมื่อครั้งที่เธอโทรศัพท์มาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตหลายเดือนก่อน คำพูดเบื้อนต้นของผู้เขียน ที่ทำให้เธอรู้สึกดีและเริ่มมีพลังขึ้นมา คือคำว่า “#เป็นธรรมดาครับ” ดังที่ผู้เขียนนำเสนอมาตอนต้นของบทความ #คำว่าธรรมดาแต่ไม่ธรรมดานี้มีความหมายลึกซึ้งมากทั้งในโลกแห่งจิตวิทยาและโลกแห่งศาสนาปรัชญา

ยิ่งได้รับการสื่อสารว่า “#หากแม้นใครๆที่พบเหตุการณ์เช่นคุณก็อาจรู้สึกเช่นเดียวกับคุณ” ยิ่งส่งผลทางจิตใจต่อหมายความว่า เขาได้รับการเข้าใจ เห็นใจ และยอมรับเป็นอย่างยิ่ง ทรงพลังยิ่งกว่าคำว่า “#ฉันเข้าใจเธอ” ที่มักพูดกันเป็นไหนๆ ยิ่งได้ยินคำว่า “#พบเหตุการณ์เช่นคุณ” ยิ่งช่วยให้เขารู้สึกเป็นกลางต่อสถานการณ์ที่เผชิญ ดีกว่าพูดว่า “#พบปัญหาเช่นคุณ” เพราะในคำว่าปัญหามีความหมายโดยนัยยะอยู่ในนั้นว่า เป็นคนมีปัญหาเนื่องจากไม่มีมนุษย์คนใดอยากพบปัญหาและอยากให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นคนมีปัญหา ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงคำว่า “พบปัญหา” เป็น “พบเหตุการณ์” จะช่วยให้ผู้ที่ทุกข์ใจ รู้สึกดีต่อตนเองมากกว่า

ในทางจิตวิทยา มนุษย์ทุกคนที่อยู่ในภาวะทุกข์ระทมตรมใจอย่างสาหัส ลึกๆ ของความคิดจะสงสัยว่าตนเองผิดปกติหรือเปล่าที่รู้สึกเช่นนั้น ทั้งยังรู้สึกผิดและอาจใช้กลไกทางจิตเพื่อปรับตัวให้ดีขึ้นด้วยการโทษตนเองและโทษผู้อื่น จนเคียดแค้นอยากฆ่าตัวเองและฆ่าผู้อื่นนั่นเอง ความรู้สึกรุนแรงที่รุมเร้าอยู่นี้ หากได้รับคำตอบจากผู้อื่นที่ตั้งใจจะให้การปรึกษาพูดกับเขาว่า “#เป็นธรรมดา”จะเป็นการสื่อสารเพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนธรรมดาไม่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะไม่มีมนุษย์คนใดอยากเป็นคนผิดปกติ กล่าวคือ #ทันทีที่ได้ยินและรู้สึกว่าตนเองปกติและเป็นธรรมดาความรู้สึกดีและมีคุณค่าในตนเองจะเริ่มเกิดขึ้น

ส่วนธรรมดาในทางธรรมนั้นก็คือธรรมะนั่นเอง #เมื่อไหร่เห็นทุกข์เมื่อนั้นเห็นธรรมเมื่อไหร่เข้าใจธรรมเมื่อนั้นเข้าใจทุกข์ ภาวะที่ทุกข์ยากลำบากอย่างสาหัส หากเข้าใจและได้สติก็จะเข้าใจธรรมชาติที่เป็นธรรมดาว่า อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ดังเช่น สตรีคนดังกล่าวเล่าให้ผู้เขียนฟังอีกว่า “ไม่น่าเชื่อเลยนะค่ะ ที่คุณบอกดิฉันว่าความรู้สึกต่างๆ เหล่านั้นสักระยะหนึ่งมันจะหายไป ไม่น่าเชื่อจริงๆ ค่ะ เมื่อตอนที่ทุกข์ใจมาก เหมือนมีภูเขาอยู่ในอกนึกไม่ออกเลยว่าภาวะอย่างนั้นมันจะหายไปได้อย่างไร แต่วันนี้เข้าใจแล้วค่ะ ว่ามันหายไปได้จริงๆ”

แล้ววันนี้ผู้อ่านทุกท่านอยากเป็นคนธรรมดาหรือเหนือธรรมดาครับ! หากเป็นคนดีและคนเก่งในทางวิชาชีพและวิชาการที่เหนือธรรมดาเชื่อว่าใครๆก็อยากเป็นและก็ควรเป็นกันด้วยเพราะสังคมจะได้พัฒนาสิ่งดีๆขึ้นอีกมาก แต่เมื่อใดที่ทุกข์ระทมตรมใจคงไม่มีใครอยากทุกข์เหนือธรรมดา เพราะฉะนั้นหากเข้าใจคำว่าธรรมดาและความเป็นธรรมดาแล้ว #ธรรมดานั่นแหละจะเป็นทั้งคำเป็นทั้งความที่ส่งผลต่อการสร้างคุณค่าและพัฒนาทางธรรม กระทั่งสร้างพลังสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts