In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์
ห้าวิธีคิดเพื่อพิชิตความทุกข์

ขึ้ นชื่อว่าความทุกข์ ไม่ว่ารูปแบบใดและอย่างไร ก็ไม่มีใครปรารถนากันทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนล้วนโหยหาความสุขให้ตนเองอย่างไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะความสุขจากการได้รับการตอบสนองจากสิ่งกระตุ้นเร้าภายนอกซึ่งเรียกว่า “อามิสสุข” ทั้งความอยากได้ใคร่มีและไม่อยากได้ไม่ใคร่มี เช่น มีความสุขเพราะเงินบัญชีในธนาคารเพิ่มขึ้น สุขเพราะได้กินได้เที่ยวตามใจต้องการ สุขเพราะแฟนซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมมาฝาก สุขเพราะเจ้านายที่ตนเองไม่ชอบย้ายไปทำงานที่อื่น สุขเพราะพ้นจากการต้องคดี สุขเพราะพ้นจากการทำงานที่ตนเองไม่ชอบ เป็นต้น

ชีวิตคือการเรียนรู้

จงอยู่กับปัจจุบัน

แท้จริงความสุขเหล่านั้นในทางธรรม ล้วนเกิดจากความต้องการหรือกิเลสของมนุษย์สองประการนั่นคือ 1)ภวตัณหา คือความอยากได้ อยากมี อยากเป็น 2) วิภวตัณหา คือความอยากไม่ได้ อยากไม่มี อยากไม่เป็น กิเลสทั้งสองประการดังกล่าว ล้วนเป็นสิ่งเร้าภายนอกที่กระตุ้นเร้าให้เราพึงใจ เมื่อพึงใจก็ใส่ความหมายว่าเป็นสุข เมื่อไม่พึงใจก็ใส่ความหมายว่าเป็นทุกข์ จึงสุขสุขทุกข์ทุกข์สลับสับเปลี่ยนคละเคล้ากันไปอยู่เช่นนั้นเอง ซึ่งในพุทธจิตวิทยาถึอว่าเป็นความสุขชั่วคราวหรือเป็นความทุกข์ตามธรรมชาติทั้งสิ้น

ห้าวิธีคิดเพื่อพิชิตความทุกข์

มื่อสิ่งเหล่านี้เป็นความสุขโดยสมมุติและเป็นความทุกข์โดยธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่เราจะหลีกหนีไปไหนไม่ได้ แต่!หากมีวิธีคิดหรือวิธีรับมือต่อปัญหาและความทุกข์ดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เรามีความสงบสุขทางใจ เกิดพลังภายในจากความเข้าใจชีวิตโดยธรรมชาติ และการจะนำชีวิตไปสู่ประสิทธิผลดังกล่าวได้นั้นก็ต่อเมื่อ เรามีวิธีคิดที่ดีห้าประการนั่นคือคิดว่า 1)ชีวิตคือการเรียนรู้ 2)อยู่กับปัจจุบัน 3)รู้ทันธรรมชาติ 4)ฉลาดคิด และ 5)ทำจิตให้จิตสงบ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ชีวิตคือการเรียนรู้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.แสง จันทร์งาม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพุทธศาสนาและปรัชญาท่านหนึ่งของเมืองไทย กล่าวไว้ว่าแท้จริงเมื่อศึกษาพุทธจิตวิทยาอย่างละเอียดลึกซึ่งแล้วจะพบว่า พุทธจิตวิทยาสอนให้เรารู้ว่าชีวิตเกิดมาเพื่อเรียนรู้ มิใช่เกิดมาเพื่อชดใช้กรรม กล่าวคือเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้เข้าใจโลกเข้าใจธรรมและพัฒนาตัวเองทั้งกายวาจาใจให้สูงส่งดีงามยิ่งขึ้น ส่วนในทางโลกนั้นผู้ที่เปี่ยมสุขภาพจิตจะมองโลกในด้านดี จะไม่มองว่ามีสิ่งใดล้มเหลวในชีวิต มีแต่ได้เรียนรู้กับทุกเหตุการณ์ในชีวิตและพัฒนาสิ่งต่างๆให้ดียิ่งขึ้น

อยู่กับปัจจุบัน

คำว่าอยู่กับปัจุบันนั้น มักจะได้ยินกันอย่างมากในทางพุทธจิตวิทยาที่กล่าวว่า”ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ” คำนี้มีความหมายลึกซึ้งทีเดียว ทั้งทางธรรมคือทุกขณะจิต ทุกลมหายใจเข้าออก ไปจนถึงทุกนาทีทุกชั่วโมงและทุกๆวันนั่นเอง กล่าวคือทุกๆลมหายใจออกที่ผ่านไปกลายเป็นอดีตทั้งสิ้น คนเราควรทำแต่สิ่งดีๆในบทบาทหน้าและอุดมการณ์ของตนในปัจจุบันขณะเต็มกำลังและจบไปเป็นวันๆ ไม่นำเรื่องที่ทุกข์ใจในอดีตและกังวลใจในอนาคต มาปรุงแต่งให้จิตใจตกต่ำอยู่ร่ำไป

รู้ทันธรรมชาติ

ธรรมชาติสำคัญที่มนุษย์พึงเข้าใจนั้นคือ ทุกสรรพชีวิตและทุกสรรพสิ่งมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา มีการแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนนี้เองที่เป็นเหตุทำให้คนเราทุกข์ใจ โดยเฉพาะการแปรผันและพลัดพรากไปในทิศทางที่ตนไม่พึงใจ หากใคร่ครวญจนเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว จะช่วยให้ปรับตัวปรับใจต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ ยิ่งหากศึกษาการเจริญวิปัสนาด้วยแล้ว ยิ่งจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

ฉลาดคิด

ความคิดคนเรานั้นสำคัญยิ่ง ส่งผลต่อทั้งการสื่อสารและการกระทำทั้งยังสัมพันธ์กับผลลัพท์ต่างๆในชีวิตทั้งสิ้น การเป็นคนที่ฉลาดคิดนั้น ควรฝึกฝนหลายวิธีเช่น คิดแบบแยกแยะให้เห็นโดยละเอียดลึกลงไปเรื่อยๆว่า อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล อะไรสัมพันธ์กับอะไรและอะไรไม่สัมพันธ์กับอะไร กระทั่งแยกแยะให้ได้ว่าอะไรเป็นเพียงอารมณ์และอะไรเป็นอุดมการณ์ และอะไรเป็นหลักการณ์อะไรเป็นส่วนปลีกย่อย เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือไม่ว่าจะเป็นวิธีคิดรูปแบบใดๆต้องอยู่บนพื้นฐานของความมีคุณธรรมจริยธรรม

จิตสงบ

การทำให้จิตสงบไปจนถึงพ้นทุกข์นั้น ค่อนข้างเป็นคำอธิบายทางพุทธจิตวิทยาเสียมากกว่าจิตวิทยาตะวันตกหรือจิตวิทยาทั่วไป กล่าวคือการจะทำให้จิตสงบได้อย่างแท้จริงนั้น ใช่เพียงแค่การใช้กลไกทางจิตและปรับเปลี่ยนความคิดเท่านั้น แต่ต้องทำด้วยการเจริญสมาธิตามแนวพุทธจิตวิทยานั่นคือ การมีสมาธิใคร่ครวญใส่ใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างยาวนาน ซึ่งมีทั้งหมด40วิธี แต่วิธีที่นิยมทำกันมากที่สุดคือ การตามดูลมหายใจเข้าออก เช่น หายใจเข้านับ หนึ่งสองสามสี่ห้า หายใจออกนับ ห้าสี่สามสองหนึ่ง ทำอยู่เช่นนั้นอย่างสม่ำเสมออาจก่อนนอนหรือก่อนออกจากบ้านวันละประมาณ15นาทีขึ้นไป จะช่วยให้จิตใจสงบสุขได้เป็นอย่างดี

หากทุกท่านสามารถคิดและลงมือทำ ตามหลักการทั้งห้าข้อดังกล่าวได้คือ คิดว่าชีวิตเกิดมาเพื่อเรียนรู้ อยู่กับปัจจุบัน รู้ทันธรรมชาติ ฉลาดคิด และทำจิตให้สงบ ได้อย่างสม่ำเสมอทุกๆวัน จะเป็นการใช้หลักการทั้งจิตวิทยาทั่วไปและจิตวิทยาแนวพุทธมาพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถปรับตัวปรับใจ รับมือกับทุกสถานการณ์ของชีวิตได้อย่างสงบสุขและพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและนักพัฒนาคุณภาพมนุษย์แบบสหศาสตร์ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok และกรรมการบริหารมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาลสวนปรุง

Recommended Posts