In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์
รับผิดชอบก่อนทำ หรือทำแล้วอ้างว่ารับผิดชอบ

อาจารย์ครับ ขอปรึกษาหน่อยครับ ผมกลุ้มใจมากไม่รู้จะทำยังไงดี ผมรู้สึกเครียดมากเลย ด้วยเพราะนิสัยของผมเป็นคนที่ทำอะไรลงไปแล้ว ต้องรับผิดชอบครับ เรื่องมีอยู่ว่าผมไปมีสัมพันธ์สวาทกับเพื่อนสนิทของภรรยาจนเขาตั้งครรภ์ครับ และภรรยาของผมก็รู้แล้วด้วย เขาโกรธมาก ด่าทั้งผมและเพื่อนของเขามากมาย และยื่นคำขาดขอหย่าขาดกับผม ผมกลุ้มใจมากครับ ส่วนเพื่อนของภรรยาเขาก็บอกผมว่า เขาเป็นฝ่ายผิดที่เป็นฝ่ายสื่อสารเชิงสัมพันธสวาทกับผมก่อน และเมื่อเรื่องแดงขึ้นเช่นนี้เขาไม่ขอเรียกร้องอะไรและขอเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แต่ผมรับไม่ได้ครับ เพราะผมทำอะไรลงไปแล้วต้องรับผิดชอบเสมอครับ

“ผมเป็นคนที่ทำสิ่งใดลงไปแล้วต้องรับผิดชอบเสมอทิ้งไม่ได้และตัดใจไม่ได้ครับผมรับผิดชอบครับ”

นั่ นเป็นส่วนหนึ่งจากบทสนทนาที่ชายคนหนึ่งโทรศัพท์มาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับผู้เขียนเมื่อหลายวันที่ผ่านมา ดูช่างคล้ายกับเรื่องราวในละครโทรทัศน์ที่พึ่งอวสานไปเมื่อไม่นานมานี้คือเรื่องน้ำเซาะทรายนั่นเอง ในโลกของชีวิตจริงเรื่องทำนองดังกล่าวมีมากยิ่งกว่าในละครโทรทัศน์เสียอีก และหลายรายผู้เขียนก็มักจะได้ยินคำพูดว่า “#ผมเป็นคนที่ทำสิ่งใดลงไปแล้วต้องรับผิดชอบเสมอทิ้งไม่ได้และตัดใจไม่ได้ครับผมรับผิดชอบครับ” จึงเป็นที่มาแห่งการเขียนบทความเรื่องนี้นั่นคือ รับผิดชอบก่อนทำหรือทำแล้วค่อยอ้างว่ารับผิดชอบ

หลากหลายเหตุการณ์ทั้งในชีวิตส่วนตัวครอบครัวและสังคมเรามักถูกพร่ำสอนให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบมาตั้งแต่เด็ก แต่!แทบทั้งหมดของการสอนมักจะเป็นการสอนให้รับผิดชอบในหน้าที่การงาน และผลลัพท์ของการกระทำเหล่านั้น ดังเช่นตัวอย่างที่ผู้เขียนนำเสนอมาแต่แรก ไม่ค่อยพบว่ามีการสอนให้รับผิดชอบในความคิดอารมณ์และความรู้สึกของตนเองก่อนการลงมือทำเรื่องใดๆในชีวิต ชึ่งนั่นคือเหตุ แต่สอนให้ต้องรับผิดชอบที่ผลของการกระทำ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่หากจะให้ถูกกว่าคือ ต้องสอนให้มุ่งรับรู้ทั้งความคิดความรู้สึกและผลของการกระทำที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน

หัวใจของการเป็นคนมีความรับผิดชอบนั้นคือต้องฝึกให้เป็นคน “#รับรู้” #เพราะการรับรู้เป็นทั้งสติและปัญญาอย่างแท้จริง การรับรู้ที่จำเป็นต้องฝึกฝนซึ่งจะเป็นเหตุให้เป็นคนมีความรับผิดชอบนั้นมีอยู่ห้าประการณ์คือ

  • รับรู้ความคิดและอารมณ์ความรู้สึก
  • รับรู้ความรู้ความสามารถของตน
  • รับรู้ความสัมพันธ์
  • รับรู้คุณค่าและความหมาย
  • รับรู้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
รับผิดชอบก่อนทำ หรือทำแล้วอ้างว่ารับผิดชอบ

รับรู้ความคิดและอารมณ์ความรู้สึก

การฝึกรับรู้ความคิดและอารมณ์ความรู้สึกนั้นเป็นหัวใจสำคัญเบื้องต้นของการพัฒนาความรับผิดชอบ เพราะความคิดและอารมณ์ความรู้สึกเป็นปัจจัยกำหนดการกระทำทั้งมวลของมนุษย์เช่น #กินเพราะรู้สึกหิว #ทำร้ายผู้อื่นเพราะรู้สึกโกรธ #ขืนใจผู้อื่นเพราะรู้สึกกำหนัด #กอดเพราะรู้สึกรัก เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการกระทำที่ไปสัมพันธ์และกระทบต่อสิ่งๆภายหลังได้อีกมากมาย ดังนั้นการฝึกรับรู้ความคิดและอารมณ์ความรู้สึกจะช่วยให้เกิดการคิดใคร่ครวญ เกิดสติเกิดปัญญาและนำมาสู่ความยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือทำใดๆ จะป้องกันปัญหาและผลกระทบภายหลังได้อย่างดี นั่นคือการฝึกรับรู้หรือรับผิดชอบในความคิดและอารมณ์ความรู้สึกก่อนลงมือทำนั่นเอง และนี้คือจุดเริ่มต้นของความรับผิดชอบอย่างแท้จริง

รับรู้ความรู้ความสามารถของตน

การฝึกใคร่ครวญตระหนักรู้ในความรู้ความสามารถของตนนั้น จะส่งผลต่อการประเมินตนเองและการตัดสินใจว่า จะทำหรือไม่ทำอะไรได้เป็นอย่างดี เป็นการแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น กระทั่งสามารถป้องกันปัญหาและผลกระทบต่างๆได้อีกด้วย เช่น รับรู้ว่าตนเองขับรถยังไม่คล่องและพึ่งฝึกขัดขับมาได้สองสับดาห์ ก็ไม่ควรอาสาเปลี่ยนเพื่อนขับรถขึ้นภูเขาเป็นต้น เพราะทันทีที่ประเมินความรู้ความสามารถของตนเองได้ดีและเหมาสม จะนำมาสู่การป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดในอนาคตได้เป็นอย่างดี

รับรู้ความสัมพันธ์

การรับรู้ความสัมพันธ์นั้นสืบเนื่องมาจากสองข้อแรกนั่นคือ เมื่อเกิดความคิดและอารมณ์ความรู้สึกอยากลงมือทำอะไรและประเมินตนเองแล้ว ก็พึงมองให้เห็นว่าการกระทำนั้นๆจะไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับใครๆและอะไรบ้าง เช่นการขาดงานอย่างกระทันหันจะส่งผลให้เพื่อนร่วมงานเดือดร้อนเพราะต้องทำงานแทนตนและอาจให้บริการไม่ทั่วถึง ทั้งยังส่งผลให้หัวหน้างานต้องรีบหาคนมาทำงานแทนแบบเฉียบพลันเป็นต้น นั่นคือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผลและจะส่งผลอะไรและอย่างไรทั้งต่อตนเองต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

รับรู้คุณค่าและความหมาย

มนุษย์อยู่ในสังคมแห่งการตีความให้คุณค่าและความหมายมากมายที่อาจต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละสังคม เมื่อเราฝึกเข้าใจในคุณค่าและความหมายจะช่วยให้ไม่กระทำการณ์ใดๆที่จะส่งผลต่อการกระเทือนคุณค่าของตนเองและผู้อื่น เช่น ลูกมีคุณค่าและความหมายอันเป็นที่รักและหวงแหนของพ่อแม่ เราก็ไม่พึงไปทำร้ายหรือลบหลู่ดูหมิ่นลูกของใครๆเป็นต้น การฝึกรับรู้คุณค่าและความหมายนี้ยังช่วยพัฒนาให้เราเป็นคนที่รู้จักเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

รับรู้ผลกระทบ

การฝึกรับรู้ผลกระทบเป็นการฝึกใคร่ครวญล่วงหน้าถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจากการกระทำใดๆนั่นเอง เป็นทั้งความฉลาดคิดและความเฉลียวใจอย่างรอบด้าน เป็นการฝึกคิดอย่างเป็นระบบเพื่อจะป้องกันปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี เช่น การทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังมีไฟอยู่นั้นอาจส่งผลให้เกิดไฟไหม้ป่า และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในผืนป่า ส่งผลกระทบต่อไปอีกถึงมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ ส่งผลกระทบต่อไปถึงสุขภาพของมนุษย์เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ และยังส่งผลกระทบไปถึงการเพิ่มรายจ่ายจากการเจ็บป่วยเป็นต้น

ารฝึกรับรู้ทั้งห้าประการดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาความรับผิดชอบ ซึ้งต้องหมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอทุกๆข้อให้สัมพันธ์ร้อยเรียงกันจนเกิดเป็นทักษะของชีวิต เมื่อนั้นจึงจะเป็นการฝึกพัฒนาความเป็นคนที่มีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบตลอดกระบวนการ ทั้งก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร ระหว่างลงมือทำและผลแห่งการกระทำนั้นๆ และผู้เขียนขอย้ำว่าการฝึกรับรู้ข้อหนึ่งนั้นต้องมาก่อนข้ออื่นๆเสมอ จึงจะเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง

#ความรับผิดชอบ(responsibility) #การรับรู้(perception) #และการตัดสินใจ(decision making) #สามอย่างนี้สัมพันธ์กันมาอย่างแนบเนื่อง #ในทางจิตวิทยานั้นเป็นทั้งบุคลิกภาพ(personality) #และความฉลาดทางอารมณ์(emotional quotient) ส่วนในทาง #พุทธจิตวิทยา นั้นเป็นทั้ง #การเจริญสติสัมปชัญญะ #และฝึกทมะคือความข่มใจ #ฝึกสัญญมะคือความยับยั้งชั่งใจ #จนส่งผลต่อการคิดและการกระทำในทางที่ชอบทั้งมวลคือมรรคมีองค์แปดนั่นเอง เช่น การมีอาชีพชอบ มีวาจาชอบ มีการปฏิบัติชอบ มีความตั้งใจชอบ เป็นต้น

#ดังนั้นหากทุกท่านฝึกปฏิบัติตามหลักการทั้งห้าข้อดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ #นอกจากจะช่วยพัฒนาบุคลิกภาพและความฉลาดทางอารมณ์แล้ว #ยังถือว่าได้เจริญในธรรมควบคู่กันไปด้วยตลอดเส้นทางสู่ความสุขและสำเร็จในชีวิตนั่นเอง

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและนักพัฒนาคุณภาพมนุษย์แบบสหศาสตร์ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok และกรรมการบริหารมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาลสวนปรุง

Recommended Posts