In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

สื่อมวลชนมีความรับผิดชอบแค่ไหน ในสถานการณ์วิกฤติทางสังคม

s__9003012

จากเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายบุกยิงผู้บริสุทธิ์ ที่ห้างสรรพสินค้าเทอมินอล21ที่จังหวัดนครราชสีมาที่ผ่านมานั้น ทุกหน่วยงานในประเทศต่างร่วมมือร่วมใจกันเพื่อจะคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตดังกล่าว เช่นองค์กรตำรวจ ทหาร สาธารณสุขและอื่นๆ และหนึ่งในนั้นสื่อสารมวลชนซึ่งก็ต้องมีส่วนทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆเช่นกัน

เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองไทยก็ว่าได้ ดังนั้นองค์กรสื่อสารมวลชนอาจยังไม่มีกรณีศึกษาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทำนองดังกล่าวและอาจยังไม่มีระเบียบปฏิบัติ(protocol)ที่มีประสิทธิภาพก็เป็นไปได้ เพราะพบว่าขณะที่หน่วยงานต่างๆกำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์อยู่นั้นมีสื่อมวลชนบางสำนักยังรายงานข่าวที่เกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติดังกล่าวอยู่อย่างใกล้ชิด แม้จะถูกท้วงติงจาก กสทช.แล้วก็ตาม

แต่ก็ยังฝืนรายงานข่าวเช่นนั้นอยู่และอ้างว่าเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอข่าวเพราะประชาชนเองก็ต้องการรับรู้ข่าวสารเช่นกัน โดยอ้างว่าไม่ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติการณ์ใดๆของภาครัฐ แต่สื่อเหล่านั้นกลับนำเสนอข่าวแง่มุมอื่นๆพร้อมทั้งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาชญวิทยาเกี่ยวกับวิธีการรับมือต่างๆ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ก่อการร้ายเป็นระยะๆเพื่อให้เขาทราบวิธีการรับมืออยู่เช่นนั้นเอง

ปรากฏการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าสื่อมวลชนบางสำนักไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ ในการคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติในสังคม จากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่าสื่อมวลชนทุกแขนงนอกจากปฎิบัติหน้าที่ในวิชาชีพแล้วควรแม่นยำในวิชาการด้วย #เพราะในสถานการณ์เช่นนี้สื่อต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และยอมให้หน่วยงานที่แก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีนำเสนอข่าวสาร

ดังทฤษฎีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของสื่อมวลชนของMcquail(1994) ซึ่งกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ในบางสถานการณ์ สังคมอาจจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม” นั่นหมายความว่าสื่อมวลชนควรฟังวิธีปฏิบัติจากหน่วยงานหลักและร่วมมือทำตามหลักการที่กำหนดขึ้นมาเฉพาะกิจนั่นเอง

ดังนั้นการที่สื่อบางสำนักขัดขืนและยังนำเสนอข่าวในแง่มุมที่หลากหลายอยู่นั้น กลับเป็นการให้ข้อมูลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ก่อการร้ายเป็นระยะๆ เช่นนี้เรียกว่ารับผิดชอบต่อสังคมแล้วหรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนจำนวนหนึ่งต้องหันมาใส่ใจวิชาการมากขึ้นและปฎิบัติหน้าที่อย่างรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจังและทำงานโดยมีทฤษฎีรองรับอย่างแน่นหนา เมื่อนั้นจึงจะขึ้นชื่อได้ว่าทำหน้าที่เพื่อรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง

ผู้เขียนเคยตั้งคำถามกับองค์กรสื่อมวลชนว่าในปีหนึ่งๆนั้นนอกจากทำข่าวให้ความรู้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอื่นๆแล้ว องค์กรของท่านเคยพัฒนาวิชาการต่างๆรวมถึงทำวิจัยกันบ้างหรือไม่และกี่เรื่อง คำตอบคือไม่มีงานวิจัยเลย นั่นหมายความสะท้อนให้เห็นว่านักวิชาชีพเหล่านั้นขาดการพัฒนาวิชาการอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเมื่อวิชาชีพและวิชาการไม่อยู่ควบคู่กันและไม่ไปด้วยกัน จะหวังความเจริญก้าวหน้าในวิธีการรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติและฉุกเฉินที่เหมะสมได้อย่างไร ส่วนใหญ่จะพบก็แต่งานวิจัยของนักศึกษาที่อยู่ในคณะการสื่อสารของมหาวิทยาลัยต่างๆเท่านั้น

ผู้เขียนขอชื่นชมสื่อมวลชนหลายสำนักที่รายงานข่าวอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเป็นการให้ข้อมูลทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ก่อการร้าย ตลอดจนให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี เช่นสถานีโทรทัศน์ช่องเจ็ดสีให้ยืมโดรนเพื่อการตรวจหาผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

จากสถานการณ์วิกฤติในครั้งนี้ องค์กรทั้งทางวิชาชีพและวิชาการสื่อสารมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกสทช.ควรมองเห็นเป็นโอกาสพัฒนาที่จะร่วมมือกันจัดการศึกษาวิจัยในลักษณะสืบย้อน(retrospective research)ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อดูว่าวิธีการนำเสนอข่าวสารของสื่อสารมวลชนสำนักใดที่ขัดแย้งต่อหลักวิชาการตามทฤษฎีของแม็คเควลและและอื่นๆจนส่งผลกระทบต่อการทำงานในสถานการณ์วิกฤติดังกล่าว เพื่อร่วมกันศึกษาหาแนวปฏิบัติและมาตรการ(protocol) สำหรับใช้รับมือร่วมกันเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติในอนาคตต่อไป

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

Recommended Posts