In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

จะช่วยกันอย่างไรให้การฆ่าตัวตายลดลง (บทความพิเศษเนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลก 10 ตุลาคม 2562)

10-oct-world-mental-health-day

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสุขภาพจิตโลก ปีนี้เชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันการฆ่าตัวตาย (working together to prevent suicide) จากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี 2019 นี้พบว่าทุกๆ 40 วินาทีจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จหนึ่งคนจากทั่วโลก นั่นคือโดยเฉลี่ยประมาณปีละประมาณ 800,000 คน และสำหรับประเทศไทยนั้น กรมสุขภาพจิตรายงานว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละประมาณ 4000 กว่าคนนั่นหมายความว่าวันละประมาณ 12 คน นับว่าเป็นการสูญเสียชีวิตของมนุษย์ที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเพราะชีวิตทุกๆคนนั้นมีคุณค่าและมีความหมายอยู่ในตนเองเสมอ

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์เพื่อสอบถามว่า คนใกล้ชิดของเขาบอกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว อยากตาย และสื่อสารทำนองสั่งลาหลายรูปแบบ ผู้เขียนก็จะบอกไปว่า ให้เข้าไปสอบถามพูดคุยกับเขาด้วยสีหน้าท่าทีที่สุภาพและเป็นมิตร และถามเขาไปเลยว่าเขารู้สึกอยากทำร้ายตัวเองเช่นไร และเพราะเหตุใดจึงรู้สึกเช่นนั้น การถามเช่นนี้มิใช่การชี้โพรงให้กระรอก แต่เป็นการใส่ใจเขาต่างหาก คนที่ได้รับการใส่ใจจะรู้สึกดีและบอกอาการของเขาที่เป็นอยู่ให้เราฟัง

จากนั้นโปรดตั้งใจรับฟังผู้ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ด้วยการเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าระบายความรู้สึกนึกคิดต่างๆออกมา ฟังอย่างตั้งใจและใส่ใจ อย่าตำหนิติเตียนและประเมินใดๆต่อเขา ให้ฟังฟังฟังด้วยหัวใจจริงๆ เมื่อเขาเล่าระบายความรู้สึกออกมาจนหมด ก็พึงแสดงความเข้าใจและเห็นใจต่อเขา เช่นด้วยการพูดว่า “ผมเข้าใจและเห็นใจคุณมากหากแม้นเป็นใครที่เจอเหตุการณ์เช่นคุณก็คงรู้สึกไม่ต่างไปจากคุณเช่นกัน” จากนั้นอธิบายให้เขาฟังว่าความคิดอยากฆ่าตัวตายนั้นไม่ใช่การเสแสร้งและไม่ใช่การอ่อนแอ แต่เป็นการป่วยทางด้านจิตใจและสารเคมีในสมองไม่สมดุลย์ กระทั่งให้รีบชวนเขาไปพบหมอทันที ห้ามปล่อยละเลยไว้เด็ดขาด

การที่ผู้เขียนย้ำว่า “ให้รีบชวนเขาไปพบหมอทันทีห้ามปล่อยปละละเลยไว้เด็ดขาด” นั้นก็ด้วยให้ความสำคัญในประเด็นนี้นั่นเอง เหตุที่ให้รีบพาไปหาหมอโดยฉับพลันทันที เมื่อพบผู้ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายนั้น ก็เนื่องจากงานวิจัยและประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่ทำงานอยู่ในวงการสุขภาพจิตมาประมาณ 30 ปีนั้น มักจะมีการประชุมและสัมมนากรณีที่มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ (Death Case Conference) เชิงสืบสวนถึงสาเหตุและเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายสำเร็จดังกล่าว พบว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากการช่วยเหลือที่ล่าช้านั่นเอง

เหตุที่ช่วยเหลือล่าช้า ก็ด้วยขาดความตระหนักรู้และไม่เข้าใจว่าผู้ที่คิดอยากฆ่าตัวตายนั้นเป็นการเจ็บป่วยด้านจิตใจ มิใช่การเสแสร้งแกล้งทำและมิใช่เขาเหล่านั้นเป็นคนอ่อนแอ แต่คนเหล่านั้นป่วยต่างหาก การช่วยเหลืออย่างล่าช้ามักจะมาจากความคิดที่ว่าคนจะฆ่าตัวตายนั้นเสแสร้งแกล้งพูดและเป็นคนอ่อนแอ และพูดเพื่อเรียกร้องความสนใจ เขาคงไม่ทำจริง การคิดเช่นนี้จึงนำมาสู่การปล่อยปละละเลยและไม่นำไปหาหมออย่างฉับพลันทันใด กว่าจะพบอีกทีเขาก็ฆ่าตัวตายสำเร็จไปแล้ว

การช่วยเหลือล่าช้านั้น พบว่าล่าช้าจากหลายขั้นตอน เช่น ล่าช้าตั้งแต่ในครอบครัวเช่นเมื่อได้ยินใครสักคนบ่นว่าอยากฆ่าตัวตายและไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว ก็ไม่ใส่ใจในคำพูดเหล่านั้น หรือเฝ้าดูกันเอง จึงล่าช้าที่จะนำไปหาหมอ ส่งผลให้ล่าช้าที่จะได้รับการรักษาอย่างฉับไว และผู้ป่วยบางรายที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอย่างรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในโดยให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ที่มีทีมงานรักษาพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยและญาติบางรายไม่ยินยอมนอนโรงพยาบาลและอ้างว่าจะดูแลกันเองที่บ้าน เมื่อนำผู้ป่วยกลับไปบ้านแล้วและขาดการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา จึงพลาดท่าทำให้ญาติที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายนั้น ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ เหล่านี้ล้วนเกิดจากความล่าช้าและละเลยทั้งสิ้น

จะทำอย่างไร?ให้การช่วยเหลือรวดเร็ว สิ่งแรกเลยคือ ทุกคนต้องตระหนักว่าคนที่คิดอยากฆ่าตัวตายนั้นเป็นการป่วยด้านอารมณ์และจิตใจ ต้องไร้อคติต่อการเจ็บป่วยเหล่านี้ ต้องมองเห็นเป็นการเจ็บป่วยเฉกเช่นการปวดท้องปวดหัวนั่นเอง นั่นหมายความว่าเมื่อรู้ตัวว่าตนเองจิตใจเศร้าหมองหดหู่และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ให้รีบบอกคนใกล้ชิดและพากันไปหาหมอทันที และเมื่อบอกเขาแล้วก็ยังไม่มีใครพาไปหาหมอ ก็ให้รีบไปหาหมอด้วยตัวเองทันทีที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ขอย้ำว่าให้ไปทันที เพราะหากละเลยไว้ความคิดอยากฆ่าตัวตายนั้นจะรุนแรงยิ่งขึ้น

ผู้ที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหลายราย แม้กระทั่งผู้ป่วยที่เคยมารับการรักษาที่ โรงพยาบาล เมื่อหายจากความคิดอยากฆ่าตัวตายและปรับตัวปรับใจได้แล้ว มักจะกลับมาขอบคุณผู้ที่ให้การช่วยเหลือและนำพาเขาไปส่งโรงพยาบาลเสมอ นั่นเพราะเขาได้ตระหนักว่าความคิดอยากฆ่าตัวตายนั้นเป็นความคิดอัตโนมัติซึ่งเกิดขึ้นโดยที่เขาควบคุมไม่ได้ และเป็นการป่วยด้านจิตใจจริงๆ เมื่อรักษาดีขึ้นแล้วผู้ป่วยก็จะพบว่าความคิดและความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายนั้นมันหายไปได้จริงๆ

ผู้เขียน เขียนบทความ ทำรายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์มากว่า 20 ปีซึ่งรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยการบอกสาเหตุวิธีการป้องกันแก้ไขและบำบัดรักษาต่างๆมามากมายจนนับครั้งไม่ถ้วน แต่ในบทความนี้จะไม่พูดถึงสิ่งเหล่านั้นเลย จะย้ำแต่เพียงว่าเมื่อได้ยินใครสื่อสารว่าอยากฆ่าตัวตายและส่งสัญญาณทำนองสั่งเสียฝากฝั่งและสั่งลา ก็ให้รีบพาไปหาหมอโดยเร็วพลัน ขอย้ำว่าไปหาหมอโดยเร็วพลัน เพราะจากสถิติดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวนไม่น้อยนั้น เกิดจากการช่วยเหลือล่าช้า เพราะฉะนั้นวิธีแก้ไขก็คือต้องไม่ล่าช้า ให้รีบพาไปหาหมออย่างฉับไวจึงจะช่วยได้อย่างรวดเร็วในที่สุด

และหากจะถามว่าจากคำขวัญวันสุขภาพจิตโลกปีนี้ที่ว่า working together to prevent suicide (มาช่วยกันป้องกันการฆ่าตัวตายกันเถิด) นั้น เราจะมีวิธีช่วยกันป้องกันอย่างง่ายๆได้อย่างไร? คำตอบก็คือ ช่วยกันค้นหาผู้ที่สื่อสารว่าอยากฆ่าตัวตายพร้อมทั้งสั่งเสียฝากฝังและสั่งลาให้พบโดยเร็ว เมื่อพบแล้วก็ให้รีบพากันไปหาหมออย่างฉับพลันทันทีนั่นเอง เชื่อว่าหากทุกคนทำได้เช่นนี้จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้มากยิ่งขึ้นในที่สุด

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

</p>

Recommended Posts