In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

เมื่ออยู่ด้วยความเข้าใจแล้วจะไร้คำว่าต้องทนทุกข์

เมื่ออยู่ด้วยความเข้าใจแล้วจะไร้คำว่าต้องทนทุกข์
(รูปประกอบบทความ มิใช่เหตุการณ์จริง)

อาจารย์คะหนูไม่รู้ว่าหนูจะอดทนไปได้ถึงเพียงไหนเพราะที่ผ่านมาก็คิดว่าตัวเองอดทนที่สุดแล้ว” “อาจารย์ครับผมคิดว่าความอดทนของผมอาจจะถึงที่สุดแล้วก็ได้สุดท้ายอาจจะต้องแยกทางกันในที่สุด” “อาจารย์คะหนูไม่รู้ว่ามีเวรมีกรรมอะไรที่ต้องทนเลี้ยงลูกที่ไม่สมประกอบเช่นนี้ ก็รักลูกมากอยู่นะคะแต่ต้องอดทนสูงแล้วไม่รู้จะทนได้ถึงเพียงใดหนูมีความกลุ้มใจมากค่ะจะทำอย่างไรดีคะ” นั่นเป็นคำพูดที่กัลยาณมิตรจำนวนมากปรึกษาผู้เขียนเข้ามาทั้งทางโทรศัพท์และการสื่อสารทางไลน์

ช่นเดียวกับสุภาพสตรีท่านหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เธอทนขมขื่นอยู่กับครอบครัวของฝ่ายสามีที่ไม่ให้เกียรติทั้งตัวเธอและครอบครัวของเธอ แต่ที่เธอทนอยู่เพราะรู้ว่าสามีรักเธอมากและทนอยู่เพื่อลูก การได้พบได้เห็นญาติฝ่ายสามีแต่ละครั้งนั้นไม่เคยมีอะไรที่ทำให้เธอชื่นใจเลย นอกจากเสียงกระทบกระเทียบเหน็บแนมถากถางและแสดงกริยาที่ไร้น้ำใจกับเธอ แต่เธอก็อดทนมาได้ตลอด 10 กว่าปีแล้ว เธอถามผู้เขียนว่า “หนูจะทนต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่ค่ะอาจารย์”

เมื่ออยู่ด้วยความเข้าใจแล้วจะไร้คำว่าต้องทนทุกข์
(รูปประกอบบทความ มิใช่เหตุการณ์จริง)

เมื่อผู้เขียนได้ฟังทุกคนเล่ามาจนจบแล้วก็จะชื่นชมทุกๆคนที่ได้บอกว่าตนเองมีความอดทนมาตลอด เพราะความอดทนเป็นคุณสมบัติที่น่าชื่นชมจริงๆ แต่สุดท้ายผู้เขียนจะกล่าวต่อไปว่า “หากมีชีวิตอยู่ด้วยความเข้าใจแล้วจะไร้ซึ่งความอดทน “ หลายคนมักจะงงกับคำพูดของผู้เขียนคำนี้ แต่ในท้ายที่สุดก็มีความเข้าใจและนำไปใช้ปรับความคิดได้เป็นอย่างดี มีระดับที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ทักษะของแต่ละบุคคล

ส่วนใหญ่ผู้ที่ปรึกษาเข้ามาและพูดคำว่า”#อดทน”นั้น #ล้วนเป็นเรื่องของความอดทนทางความรู้สึกหรือทางใจทั้งนั้น แทบไม่พบการพูดที่พร่ำบ่นเรื่องของการอดทนทางกำลังกายเลย เช่น ทนที่ต้องแบกหามหนักทำนองนี้ไม่มีใครบ่นเลย แต่ส่วนมากเป็นการอดทนทางใจ เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปรกติ ขัดแย้ง แตกแยก ยุ้งยาก เปลี่ยนแปลง แปรปรวนและบีบคั้นทางใจแทบทั้งสิ้น

การถูกบีบคั้นและอดทนไม่มีอยู่จริงในใจหรอก #มีแต่คนคนนั้นปรุงแต่งขึ้นในความคิดและความรู้สึกเท่านั้นเอง เป็นเรื่องของการตีความและให้คุณค่าของสถานการณ์และภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั้งสิ้น เช่นหากเราไม่เข้าใจภาษาใดภาษาหนึ่งแล้วมีใครมาสื่อสารกระทบกระเทียบเหน็บแนมเย้ยหยันหยาบหยามเราอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่รู้สึกว่าถูกบีบคั้นและได้รับผลกระทบใดใดจากท่าทีและการสื่อสารของคนคนนั้นไง เพราะเราไม่ได้นำมาปรุงแต่งในความคิดและความรู้สึก ดังนั้นความอดทนจึงไม่มีอยู่จริงมีแต่ใครปรุงแต่งขึ้นมาหรือไร้การปรุงแต่งเท่านั้นเอง

การอยู่อย่างเข้าใจและไร้การปรุงแต่งทางจิตนั้นเป็นคุณสมบัติของผู้ที่มีความสงบสุขทางจิตใจ และความเป็นอริยะบุคคล ในความเป็นจริงการคิดทำนองนี้ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด เพียงแต่มนุษย์ไม่ค่อยฝึกฝนและไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถควบคุมความคิดปรุงแต่งได้จากใจของตนเองเท่านั้น แต่มนุษย์มักจะโทษสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้ามากระทบตนว่าเป็นสาเหตที่ทำให้ตัวเราทุกข์ยากลำบากใจ… ถ้าเช่นนั้นเราพึงเข้าใจอะไรที่จะทำให้ไร้การรู้สึกทนทุกข์

1) #เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน ความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้เราไม่พร่ำบ่นว่าทำไมคนนั้นเป็นเช่นนั้นทำไมคนนี้เป็นเช่นนี้หรือคนนั้นทำไมเป็นอย่างงั้นทำไมคนนี้ไม่เป็นอย่างนี้ จากผลการวิจัยทางด้านจิตวิทยาและมานุษยวิทยาพบว่า แม้กระทั่งฝาแฝดที่ถูกเลี้ยงดูมาเช่นเดียวกันอารมณ์ความรู้สึกความคิดความต้องการและเป้าหมายในชีวิตก็มีความแตกต่างกัน นั่นคือทุกทุกคนมีความแตกต่างกัน การเข้าใจเช่นนี้อย่างแท้จริงจะช่วยลดความคาดหวังภายในตัวเราจากผู้อื่น จะช่วยให้ยอมรับและเข้าใจผู้อื่นอย่างที่เขาเป็นอยู่

2) #เข้าในธรรมชาติที่ขาดและพลาดพร่อง ความเข้าใจเช่นนี้หมายถึงความเข้าใจในเรื่องของการเจ็บป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพ เมื่อเราเข้าใจว่าคือการขาดและพลาดพร่องหรือเจ็บป่วยเราจะมีกรอบแนวคิดการมองในลักษณะที่เข้าใจเห็นใจและเมตตาและอยากช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์ ความเข้าใจเช่นนี้ทำให้นักวิชาชีพต่างๆอยู่กับความขาดและพลาดพร่องของเหล่ามนุษย์ด้วยกันที่ต้องดูแลรักษาและช่วยเหลือได้อย่างเป็นสุขกระทั่งช่วยให้บุคคลใกล้ชิดและครอบครัวเขาเหล่านั้นมีความเข้าใจซึ่งกันและกันในที่สุด

3) #เข้าใจว่าทุกอย่างมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา ความเข้าใจเช่นนี้เป็นความเข้าใจที่แท้จริงอย่างที่สุดในทางปรัชญาเรียกว่าเป็นความเข้าใจในระดับปรมัตถธรรมหรือเป็นสัจธรรม นั่นคือทุกสรรพสิ่งในโลกทั้งสิ่งมีชีวิตและไร้ชีวิตต่างมีการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วก็ดับไปตามเหตุและปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆที่แตกต่างกัน ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวรได้อย่างยั่งยืนแท้จริง มีแต่การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น

4) #เข้าใจว่าทุกคนมีชะตาชีวิตเป็นของตนเอง ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามเหตุปัจจัยทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น การเข้าใจเช่นนี้เป็นความเข้าใจในระดับอภิปรัชญานั่นคือการมองว่าชีวิตในภพนี้แม้จะมองเห็นเหตุปัจจัยต่างๆก็จริงอยู่ แต่การมองว่าชีวิตภพนี้เป็นผลแต่เหตุนั้นเกิดจากอดีตชาติ เพราะไม่มีสิ่งใดที่ไร้เหตุผลและความบังเอิญ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเกิดสิ่งใดขึ้นในชีวิตการยอมรับอย่างเข้าใจและดำรงชีวิตไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยจิตใจที่สงบและเป็นกลางๆจะช่วยทำให้มีความสงบสุขทางใจในที่สุด

การเข้าใจทั้งสี่ประการดังกล่าวนั้น เป็นความเข้าใจทั้งวิชาการในทางโลกเพื่อจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและเจ็บป่วยต่างๆของชีวิตทั้งตนเองและผู้อื่นได้ กระทั่งความเข้าใจในทางศาสนาปรัชญาซึ่งเป็นความเข้าใจชีวิตที่ซับซ้อนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะช่วยให้ใจเป็นกลางๆ รู้สึกเบาเบา ไม่รู้สึกทนทุกข์ยากลำบากใจ เพราะไม่ปรุงแต่งใจให้รู้สึกอดทน เพราะ #ที่ใดอยู่ด้วยความเข้าใจที่นั่นจะไร้การปรุงแต่งใจว่าต้องทนทุกข์ #ทุกพื้นที่ของชีวิตจะเต็มไปด้วยความสงบสุขจากความเข้าใจนั่นเอง

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts