In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

มองบวกหรือหลอกตัวเอง

มองบวกหรือหลอกตัวเอง
(รูปประกอบบทความ มิใช่เหตุการณ์จริง)

ขณะที่รถรับพระสงฆ์เดินทางมาถึงงานขึ้นบ้านใหม่ของผม ซึ่งทำพิธีเวลาประมาณ 10.00 น. ใจหนึ่งก็รู้สึกยินดีและเป็นมงคล อีกใจหนึ่งก็รู้สึกกังวลที่ผู้รับเหมาจัดเลี้ยงอาหารยังมาไม่ถึง จนกระทั่งเวลา 10.30 น. ผมได้โทรศัพท์ตามผู้รับเหมาจัดเลี้ยงอาหารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้เดินทางมาโดยเร็ว เพราะพระสงฆ์จะต้องฉันเพล เวลา 11.00 น. ขณะที่แขกเหรื่อที่เชิญมาร่วมงานอีก 200 คน ก็ต้องเลี้ยงอาหารกลางวัน เวลา 12.00 น. ผมได้รับคำตอบจากผู้รับเหมาจัดเลี้ยงอาหารว่า ให้ใจเย็นอีกสักนิดหนึ่ง เดี๋ยวก็มาถึงแล้ว

ต่ปรากฏว่าเมื่อพระสงฆ์ใกล้จะทำพิธีเสร็จ ก็ยังไม่เห็นรถจัดเลี้ยงอาหารมาถึง ผมจึงขอให้ญาติรีบออกไปซื้ออาหารจานด่วนเพื่อเตรียมเลี้ยงพระ จนกระทั่งเวลา 11.45 น. จึงเห็นรถผู้รับเหมาจัดเลี้ยงอาหารมาถึงและเริ่มจัดอาหาร ขณะที่พระสงฆ์ฉันอาหารที่ซื้อมาเรียบร้อยแล้ว ส่วนแขกที่เชิญมาร่วมงานก็ต้องนั่งรอจนกว่าจะจัดอาหารเรียบร้อย และแขกบางท่านก็ทยอยกลับไปก่อน

มองบวกหรือหลอกตัวเอง
(รูปประกอบบทความ มิใช่เหตุการณ์จริง)

ผมเสียความรู้สึกมากที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เมื่อตอนติดต่อสั่งอาหารจัดเลี้ยง ผมขอให้ส่งอาหารถึงบ้าน เวลา10.00น. ผมต่อว่าผู้จัดเลี้ยงว่าเขาไม่รับผิดชอบ ทำให้งานมงคลขึ้นบ้านใหม่ผมเสียหาย ผู้รับเหมาไม่ขอโทษผมที่เขาทำผิดพลาดและไร้ความรับผิดชอบ แต่กลับพูดกับผมว่า ไม่เป็นไรค่ะ ดิฉันมองบวกค่ะ ไม่เป็นไรค่ะ ดิฉันมองบวกค่ะ คุณเองก็ควรมองบวกด้วยเช่นกันค่ะ พระสงฆ์ฉันหลังเที่ยงวันนิดหน่อยก็ไม่เป็นไรค่ะ มองบวกค๊ะ”

นั่นคือเหตุการณ์ที่กัลยาณมิตรของผู้เขียนคนหนึ่งเล่าให้ฟัง ภายหลังจากงานขึ้นบ้านใหม่ และถามผู้เขียนด้วยคำถามว่า “เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการมองบวกหรือไม่ ? , มองบวกได้อย่างไร ?, การไร้ความรับผิดชอบแล้วบอกว่ามองบวกเหมาะสมหรือไม่ ?, การมองบวกกับการหลอกตัวเองต่างกันอย่างไร ?, เกณฑ์ชี้วัดการมองบวกคืออะไร ?”เหตุการณ์และคำถามดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจแสวงหาคำตอบมาก

ด้วยปัจจุบันมีการพูดเรื่องการมองบวก หรือมองโลกในด้านดีกันมากขึ้น ทั้งการเขียน การพูด แต่ส่วนใหญ่นักเขียนและวิทยากรมักจะยกแต่ตัวอย่างเหตุการณ์ที่มองด้านบวก ไม่ค่อยพบการอธิบายถึงเกณฑ์ชี้วัดการมองบวก ผู้เขียนจึงได้คิดหาแนวทางเรื่องเกณฑ์มองบวกอย่างมีประสิทธผล จึงได้สังเคราะห์เป็นหลักคิด 5 ส. เพื่อการมองบวก นั่นคือการมองบวกต้องประกอบด้วย การมีสติสัมปชัญญะ สมาธิ สมเหตุผล สร้างสรรค์ และสร้างมิตร โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. “สติสัมปชัญญะ” การมีความระลึกได้ และรู้ตัวทั่วพร้อมต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตจะช่วยให้เกิดปัญญาพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในด้านดีและมีความรับผิดชอบ ไม่เดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น จะช่วยแยกแยะระหว่างการมองบวกกับการหลอกตนเองออกจากกัน

2. “สมาธิ” การมีสมาธิ หมายถึงเมื่อสถานการณ์ใด ๆ ในชีวิตและมีความตั้งใจ ใส่ใจสนใจในสิ่งที่กำลังทำจะช่วยให้เกิดการใคร่ครวญ ดูรายละเอียดต่าง ๆ ของงานให้รอบด้านนำมาสู่ความรับผิดชอบและระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

3. “สมเหตุผล” การวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและการงานให้สมเหตุผล โดยดูว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล อะไรสัมพันธ์กับอะไร อะไรไม่สัมพันธ์กับอะไร และจะส่งผลกระทบอย่างไร เหตุผลนั้นๆอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมด้วยหรือไม่อย่างไร

4. “สร้างสรรค์” การมองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างสร้างสรรค์ หมายถึงการไม่ทุกข์ระทมตรมใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มองเห็นประโยชน์ มองเห็นโอกาส มองเห็นความหวัง มองเห็นความหมายที่ดีงาม และมองเห็นคุณค่าในเหตุการณ์ที่เกิดแล้วหรือยังมาไม่ถึง

5. “สร้างมิตร” การตัดสินใจกระทำใด ๆ หรือเหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตแล้วส่งผลให้คนเรามีวิธีคิด วิธีพูด วิธีทำที่ส่งผลต่อการสร้างและสานความสัมพันธ์ทั้งส่วนตัว ครอบครัวและสังคมได้ สิ่งนั้นถือว่าเป็นการมองบวก

เพราะฉะนั้นจากเหตุการณ์ตัวอย่างที่นำเสนอมาตอนต้น คือการส่งสินค้าไม่ทันตามกำหนดเวลา แต่บอกว่าเป็นการมองบวก และยังชวนผู้รับบริการให้มองบวกด้วยนั้น เป็นการมองบวกหรือไม่คงต้องใช้หลักการ 5 ส. ของการมองบวกมาเป็นเกณฑ์วิเคราะห์ นั่นคือเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการมีสติสัมปชัญญะ สมาธิ สมเหตุผล สร้างสรรค์ และสร้างมิตรหรือไม่ หากสอดคล้องกับหลักการ 5 ส. ที่กล่าวมาก็น่าจะเป็นการมองบวก แต่หากไม่สอดคล้องก็คงจะเป็นการหลอกตัวเองโดยใช้กลไกทางจิตที่ทำให้ตัวเองสบายใจขึ้นชั่วคราวเท่านั้นเอง

นักธุรกิจท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า บ้านเขาอยู่กรุงเทพฯเมื่อครั้งที่น้ำท่วมหนักและยาวนานที่ผ่านมา จึงพยายามมองเหตุการณ์ดังกล่าวในด้านดี คือมองเห็นเป็นโอกาสที่ได้พิสูจน์ความอดทนและช่วยเหลือคนอื่น ๆ ที่ทุกข์ร่วมกัน และยังเป็นโอกาสทางการตลาดที่จะได้จำหน่ายเครื่องกรองน้ำให้กับครอบครัวที่มีกำลังซื้อและบริจาคเครื่องกรองน้ำให้กับวัดและสถานพักพิงของผู้ลี้ภัยน้ำท่วมด้วย อย่างนี้น่าจะเข้าได้กับหลักการ 5 ส. ของการมองบวกมากกว่าตัวอย่างแรกที่ส่งอาหารไม่ทันแล้วพูดว่ามองบวก

การมองบวกหรือมองโลกด้านดีนั้น สำคัญต่อชีวิตและสังคมมาก เพราะในโลกของความจริงเรามิอาจควบคุมชีวิตและสังคมให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้อย่างสมบูรณ์ เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่การมีจิตใจที่ดีงามและสงบสุขด้วยการมองโลกด้านดีอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามความเป็นจริงจะช่วยให้จิตใจอิ่มเอิบเบิกบานได้ในที่สุด

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts